วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เสือลายเมฆ Neofelis nebulosa

เสือลายเมฆ



ชื่อวิทยาศาสตร์ Neofelis nebulosa
ชื่ออื่น อังกฤษ : Clouded Leopard, Mint Leopard
ฝรั่งเศส : panthère longibande, panthère nébuleuse
เยอรมัน : Nebelparder
สเปน : pantera longibanda, pantera nebulosa
เบงกาลี (บังกลาเทศ), อินเดีย : lamchita, gecho bagh
จีน : 云豹
อีบัน (มาเลเซีย) : engkuli
อินโดนีเซีย, มาเลเซีย : machan dahan
คะฉิ่น (พม่า) : shagraw kai
พม่า : thit kyaung, thit-tet kya, in kya
คาส (เนปาล): lamchitia
ลาว : sua one
หลู่ไก่, ไผวัน (ไต้หวัน) : rikulau
ฉาน : hso awn


ลักษณะทั่วไป
เสือลายเมฆเป็นเสือขนาดเล็ก รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายเสือดาวแต่เล็กกว่า รูปร่างเตี้ยป้อม ลำตัวมีสีพื้นน้ำตาลอมเทาจนถึงน้ำตาลเหลือง ช่วงล่างและขาด้านในสีขาวหรือสีครีม มีลายสีน้ำตาลเข้มเป็นดวงเหมือนก้อนเมฆขนาดใหญ่ทั่วตัว ตั้งแต่หัว ขา และหาง ดวงบางดวงอาจมีจุดดำอยู่ภายในดวงด้วย แต่ละดวงมีส่วนที่ค่อนไปทางท้ายลำตัวคล้ำกว่า ดวงบริเวณหัวและขาจะมีขนาดเล็กและอาจเป็นเพียงจุดทึบตัน ที่หลัง แก้ม และคอเป็นเส้นสีดำ หูสั้นกลม หลังหูสีดำและมีจุดสีขาวอมน้ำตาลกลางหลังหู ขาค่อนข้างสั้น ขาหลังยาวกว่าขาหน้าอย่างเห็นได้ชัด อุ้งตีนกว้าง


หางยาวมากและฟู มีลายเป็นปล้อง ปลายหางสีดำหรือสีเทา หางยาวเกือบ 90 เซนติเมตร ยกเว้นเสือลายเมฆพันธุ์ฟอร์โมซัน (F.n. brachyurus) มีหางสั้นเป็นพิเศษเพียง 55-60 เซนติเมตร แต่ความยาวของหางไม่อาจใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกชนิดพันธุ์ได้


แบบจำลองกระโหลกของเสือลายเมฆ แสดงเขี้ยวที่ยาวเป็นพิเศษ

เขี้ยวยาว 3.8-4.5 เซนติเมตร นับว่ายาวที่สุดในจำนวนเสือทั้งหมดในโลก ด้านหลังเขี้ยวคมมาก ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 10-20 กิโลกรัม ความยาวลำตัว 750-1,100 มิลลิเมตร แม้จะมีขนาดเล็กกว่าเสือชนิดอื่น ๆ แต่เสือลายเมฆมีสัดส่วนของกะโหลกคล้ายกับเสือชนิดอื่น ๆ จัดเป็นเสือที่มีขนาดเล็กที่สุด

เสือลายเมฆไม่เพียงลวดลายที่โดดเด่นต่างจากเสือชนิดอื่นเท่านั้น โครงสร้างภายในและลักษณะทางพันธุกรรมก็ต่างจากเสือชนิดอื่น กะโหลกต่างจากเสือชนิดอื่นอย่างเด่นชัด จึงจัดอยู่ในสกุลแยกจากเสือชนิดอื่นคือ Neofelis

อุปนิสัย
ปัจจุบันมีข้อมูลเกี่ยวกับอุปนิสัยของเสือลายเมฆไม่มากนัก เนื่องจากมีจำนวนน้อยในธรรมชาติ ประกอบกับอุปนิสัยที่ลึกลับ และอาศัยบนต้นไม้ในป่าทึบ ทำให้ศึกษาได้ยาก ข้อมูลในด้านนี้มักได้มาจากการสอบถามชาวบ้านและจากการสังเกตในกรงเลี้ยงเป็นส่วนใหญ่

เสือลายเมฆชอบอาศัยและพักผ่อนบนต้นไม้ เป็นนักปีนชั้นเยี่ยม มีข้อตีนที่พลิกหมุนได้แบบเดียวกับมาร์เกย์ จึงสามารถห้อยโหนกิ่งไม้ด้วยขาหลังเพียงอย่างเดียวแล้วปล่อยให้หัวห้อยลงมาได้ สามารถไต่กิ่งไม้แบบห้อยตัวอยู่ใต้กิ่งไม้ที่เอนเกือบขนานกับพื้นได้ เปรียบเทียบฝีมือการปีนป่ายกับเสือดาวแล้วเสือลายเมฆจะเก่งกว่า แม้เสือดาวจะปีนต้นไม้เก่ง แต่ก็ไม่ถนัดในการจับเหยื่อบนต้นไม้ แต่เสือลายเมฆเคยมีรายงานว่าไล่จับลิงบนต้นไม้ได้ อย่างไรก็ตามเสือลายเมฆล่าเหยื่อบนพื้นดินมากเท่า ๆ กับบนต้นไม้

สัตว์ที่เสือลายเมฆชอบล่าได้แก่ ลิง หมูป่า กวางขนาดเล็ก ชะมด เม่น กระรอก นก ปลา แพะ สัตว์เลี้อยคลาน ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในประเทศไทยก็เคยมีรายงานว่าเสือลายเมฆจับลิงกังและชะนีกิน

ถิ่นที่อยู่อาศัย
โดยปรกติเสือลายเมฆชอบอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นเขตร้อนที่คงความบริสุทธิ์มาก แต่ก็อาจพบในป่าชนิดอื่นได้บ้างเหมือนกัน เช่นในป่าชั้นสองหรือป่าที่มีการทำป่าไม้ รวมถึงป่าหญ้าหรือป่าละเมาะด้วย ในพม่าและประเทศไทย เคยพบเสือลายเมฆในป่าดิบแล้งโปร่ง ในจีนพบเสือลายเมฆในหลายพื้นที่ทางฝั่งใต้แม่น้ำแยงซีเกียง เคยพบในตีนเขาหิมาลัยที่ระดับความสูงถึง 1,450 เมตร คาดว่าเสือลายเมฆอาจอยู่ได้ที่ระดับความสูงถึง 3,000 เมตร

ชีววิทยา
แม้ว่าสัตว์ที่อาศัยในป่าเขตร้อนอย่างเสือลายเมฆมักไม่มีฤดูกาลผสมพันธุ์ที่แน่นอน แต่พบว่าเสือลายเมฆในแหล่งเพาะเลี้ยงออกลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงสิงหาคม เสือลายเมฆสาวมีระยะเวลาเป็นสัดครั้งละ 6 วันและเกิดขึ้นทุก ๆ 30 วันในฤดูผสมพันธุ์ เชื่อว่าเสือลายเมฆออกลูกในโพรงไม้ที่อยู่เหนือระดับพื้นดิน แต่ก็เคยมีผู้พบเห็นเสือลายเมฆออกลูกในรังที่อยู่ในระดับพื้นดินท่ามกลางพุ่มไม้ทึบเหมือนกัน แม่เสือตั้งท้อง 86-93 วัน ลูกครอกหนึ่งมีประมาณ 1-5 ตัว ส่วนใหญ่มักมี 2 ตัว ลูกเสือแรกเกิดมีน้ำหนัก 140-170 กรัม ลืมตาเมื่ออายุ 10-12 วัน และเริ่มเดินได้เมื่ออายุ 19-20 วัน เมื่ออายุได้ 10 สัปดาห์ก็เริ่มกินเนื้อได้ หย่านมเมื่ออายุ 5 เดือน เสือหนุ่มสาวจะมีสีสันเหมือนเสือเต็มวัยเมื่ออายุได้ 6 เดือน และเมื่ออายุ 10 เดือนก็จะออกเรือนหากินเองได้ เสือลายเมฆเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 24-36 เดือน และจะให้กำเนิดลูกได้จนถึงอายุ 12-15 ปี อายุขัยโดยเฉลี่ย 11 ปี แต่ตัวที่อายุมากที่สุดในกรงเลี้ยงมีอายุ 17 ปี

เสือลายเมฆเป็นเสือที่เพาะพันธุ์ได้ยากมากเนื่องจากตัวผู้ชอบฆ่าตัวเมีย เสือลายเมฆในแหล่งเพาะเลี้ยงเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เกิดในกรงเลี้ยง การผสมเทียมและการถ่ายเทตัวอ่อน (embryo transfer) ประสบผลสำเร็จพอสมควรในเสือและแมวป่าหลายชนิด เมื่อไม่นานมานี้มีทฤษฎีจากนักเพาะเลี้ยงชาวอังกฤษบอกว่า เสือลายเมฆตัวเมียเป็นสัดครั้งเดียวในรอบปี และจะยอมผสมพันธุ์กับตัวผู้ที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานานเท่านั้น

บางทีแหล่งเพาะเลี้ยงที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการเพาะพันธุ์เสือลายเมฆอาจเป็นสวนสัตว์พาต้าของประเทศไทยก็ได้ (ปานเทพ) สวนสัตว์พาต้าเป็นสวนสัตว์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และสามารถส่งเสือลายเมฆให้แก่สวนสัตว์อื่น ๆ ทั่วโลก

ภัยที่คุกคาม
ภัยอันดับหนึ่งของเสือลายเมฆคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และอันดับรองลงมาคือการล่า หนังที่สวยงามของเสือลายเมฆเป็นที่ต้องการในตลาดขนสัตว์มาก ทำให้เสือลายเมฆถูกล่าอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีความต้องการเอากระดูกไปทำยาจีน จากการสำรวจตลาดมืดค้าสัตว์ป่าแห่งหนึ่งในจีนในปี 2534 พบว่าหนังเสือลายเมฆเป็นหนังที่หาได้ง่ายที่สุด และกลุ่มลูกค้าหลักก็คือชาวไต้หวัน ชาวอะบอริจินก็บางเผ่าก็นิยมซื้อหนังของเสือลายเมฆไปเพื่อใช้เป็นชุดประกอบพิธีกรรมบางอย่าง แม้จะจำนวนไม่มากนัก และภัตตาคารหลายแห่งในเมืองไทยและจีนยังปรากฏเสือลายเมฆอยู่ในรายการอาหารสำหรับต้อนรับนักลองของแปลก

เสือลายเมฆพันธุ์ฟอร์โมซัน (N.n. brachyurus) พบได้ในใต้หวัน ไม่มีรายงานพบเห็นในธรรมชาติมาเป็นเวลานานแล้ว เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

สถานภาพ
สถานภาพการคุ้มครอง
ไซเตส : บัญชีหมายเลข 1
สถานภาพประชากร
ไอยูซีเอ็น : เสี่ยงสูญพันธุ์
ประเทศที่ห้ามล่า
บังกลาเทศ บรูไนดารุสซาลาม จีน อินเดีย มาเลเซีย พม่า เนปาล ไต้หวัน ไทย เวียดนาม
ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์
ภูฏาน
ไม่มีข้อมูล
กัมพูชา
ประเทศที่ควบคุมการล่า
ลาว

จากเวปโลกสีเขียว

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...