วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กวางผา Goral

กวางผา







ชื่อสามัญ ; Goral


ชื่อวิทยาศาสตร์ ; Nemorhedus caudatus

อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Mammalia

อันดับ Artiodactyla
วงศ์ Bovidae
วงศ์ย่อย Caprinae

สกุล Nemorhaedus
สปีชีส์ N. caudatus


ลักษณะทั่วไป
กวางผาเป็นสัตว์จำพวกเดียวกับแพะในวงศ์ย่อย Caprinae เช่นเดียวกับเลียงผา แต่ไม่มีหนวดเครายาวที่คางอย่างแพะ ลำเขาสั้น ปลายเขาโค้งไปข้างหลัง และมีต่อมเปิดที่กีบนิ้วเท้า รูปร่างคล้ายเลียงผาแต่ขนาดเล็กกว่ามาก ลำคอเรียวเล็ก หางยาวและเขาสั้นกว่า ใบหน้าเว้าเป็นแอ่งไม่แบนราบอย่างหน้าเลียงผา ต่อมเปิดระหว่างตากับจมูกเป็นรูเล็กมาก กระดูกดั้งจมูกยื่นออกแยกจากส่วน กระโหลกศรีษะชิ้นหน้าติดอยู่แต่เฉพาะส่วนฐานกระดูกจมูก ส่วนกระดูกดั้งจมูกของเลียงผาจะยื่นออกเฉพาะส่วนปลาย ท่อนโคนจมูกเชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกับกระโหลกศรีษะ ลักษณะรูปร่างของกวางผาดูคล้ายคลึงกับเลียงผาย่อขนาดเล็กลงเกือบเท่าตัว สีขนตามตัวเป็นสีน้ำตาลแกมเทาไม่ดำอย่างเลียงผา ขนตามตัวชั้นนอกเป็นเส้นละเอียดนุ่ม เห็นเป็นแถบลายจาง ๆ บริเวณแผ่นอก สีขนช่วงโคนเขาเข้มกว่าช่วงปลายขาลงไปถึงข้อเท้า เขาสั้นสีดำเป็นรูปกรวยแหลมปลายเขาเรียวแหลมโค้งไปข้างหลังเล็กน้อย โคนเขาใหญ่มีรอยหยักเป็นวง ๆ รอบเขาชัดเจน โดยทั่วไปแล้วสีขนของกวางผาตัวเมียจะอ่อนกว่าตัวผู้ เขาสั้นเล็กและมีรอยหยักรอบโคนเขาไม่ลึกชัดเจนอย่างเขาของตัวผู้ ขนาดของกวางผาไทย ขนาดตัวประมาณ 80-120 เซนติเมตร หางยาว 7-20 เซนติเมตรใบหูยาว 10-14 เซนติเมตร ความสูงที่ไหล่ 50-70 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 22-32 กิโลกรัม ขนาดของเขาแต่ละข้างมักยาวไม่เท่ากัน แต่โดยเฉลี่ยความยาวของเขาแต่ละข้างประมาณ 13 เซนติเมตร ขนาดวัดรอบโคนเขาประมาณ 7 เซนติเมตร




ลักษณะนิสัย
ชอบอาศัยอยู่ตามไหล่เขาหรือหน้าผาสูงชันที่มีไม่พุ่มเล็ก ๆ หรือซอกเหลือบหินพอหลบซ่อนตัวหรือกำบังแดดในตอนกลางวัน มักพบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 4 - 12 ตัว ต่างจากนิสัยของเลียงผาที่ชอบอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง และพบว่าจะมีอาณาเขตถือครองโดยการถ่ายกองมูลเป็นการแสดงแนวเขตของแต่ละฝูง



ถิ่นอาศัย
มีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์อยู่ในแถบประเทศจีน แพร่กระจายออกไปในเกาหลี แมนจูเรีย และแถบอัสซูริ (Ussuri) ของประเทศรัสเซีย ใต้ลงมาพบในแถบภาคตะวันออกของประเทศพม่า และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีรายงานแหล่งที่พบกวางผาในประเทศไทยอยู่ในบริเวณเทือกเขาต้นน้ำแม่ปิง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยและแม่ตื่น จังหวัดเชียงใหม่และตาก และเทือกเขาบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแม่ลา แม่แสะ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่



อาหาร
หญ้า ใบไม้ และลูกไม้

การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์ของกวางผาอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ระยะตั้งท้องประมาณ 6 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว อายุวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 2-3 ปี อายุยืนประมาณ 8-10 ปี

สถานภาพปัจจุบัน
ถึงแม้กวางผาจะมีศัตรูในธรรมชาติน้อยมาก เนื่องจากสภาพถิ่นที่อาศัยของกวางผาเป็นหน้าผาสูงชันที่สัตว์ทั่วๆ ไปไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ แต่แหล่งที่อยู่มีจำกัดอยู่ตามเขาสูงเป็นบางแห่งของจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก ประกอบกับมีนิสัยอยู่รวมเป็นฝูง และมีอาณาเขตครอบครองแน่นอน ทำให้ถูกพรานชาวเขาตามล่าได้ง่าย โดยดูจากร่องรอยการกินอาหาร และกองมูลที่ถ่ายทิ้งไว้ อีกทั้งบริเวณที่เป็นแหล่งที่กวางผาไม่มีที่อยู่อาศัยต้องหลบหนีไปอยู่แหล่งอื่น และถูกฆ่าตายไปในที่สุด นอกจากนี้ความเชื่อที่ว่าน้ำมันกวางผามีสรรพคุณใช้เป็นยาสมานกระดูกที่หักได้เช่นเดียวกับน้ำมันเลียงผา ทำให้กวางผาถูกฆ่าตาย เพื่อเอาน้ำมันอีกสาเหตุหนึ่งด้วย ปัจจุบันกรมป่าไม้สามารถเพาะขยายพันธุ์กวางผาพันธุ์ไทยได้สำเร็จ แต่เนื่องจากมีพ่อ - แม่พันธุ์เพียงคู่เดียว สถานการณ์ความอยู่รอดของกวางผาไทย จึงยังอยู่ในขั้นน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง กวางผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...