วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เสือโคร่ง Tiger

เสือโคร่ง, เสือลาย





ชื่อไทย เสือโคร่ง, เสือลาย
ชื่ออังกฤษ Tiger
ชื่อวิทยาศาสตร์ Panthera tigris
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Mammalia
อันดับ Carnivora
วงศ์ Felidae
สถานภาพการคุ้มครอง ไทย:สัตว์ป่าคุ้มครอง ไซเตส:บัญชีหมายเลข 1
สถานภาพประชากร วิกฤต


เสือโคร่งเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เสือโคร่งตัวที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำหนักตัวถึงเกือบ 500 กก. ลำตัวมีสีเหลืองแดงหรือสีขมิ้น มีแถบสีดำหรือน้ำตาลพาดตามลำตัวตลอดในแนวตั้ง บริเวณหน้าอก ส่วนท้องและด้านในของขาทั้งสี่มีสีขาวครีม บางตัวอาจมีสีออกเหลือง มีกระบอกปากค่อนข้างยาว บริเวณจมูกมีสีชมพู ในบางตัวอาจมีสีดำปะปนเป็นแต้ม ๆ ม่านตาสีเหลือง รูม่านตากลม หูสั้นและกลม หลังหูมีสีดำและมีแต้มสีขาวเด่นชัดอยู่กลางใบหู ขาหน้าของเสือโคร่งจะบึกบึนและแข็งแรงกว่าขาหลัง ฝ่าตีนกว้าง หางยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว ปลายหางเรียว ลายดำที่หางมีลักษณะทั้งริ้วและปล้องปนกัน ปลายหางมักจะเป็นสีดำ เสือโคร่งใช้หางช่วยรักษาสมดุลย์ของร่างกายขณะหันตัวอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังใช้ในการสื่อสารกับเสือตัวอื่นด้วย ตีนหน้าของเสือโคร่งจะมีนิ้วอยู่ข้างละ 5 นิ้ว ส่วนตีนหลังมีข้างละ 4 นิ้ว เล็บสามารถหดเก็บไว้ในอุ้งได้ ทำให้สามารถเดินได้อย่างเงียบกริบ

เสือโคร่งมีชนิดย่อย 8 ชนิดย่อย ดังนี้

ชื่อพันธุ์ ชื่อวิทยาศาสตร์ เขตกระจายพันธุ์
เบงกอล P.t. tigris คาบสมุทรเบงกอล
แคสเปียน P.t. virgata แถบประเทศตุรกี อาฟกานิสถาน อิหร่าน จีนตะวันตก รัสเซีย เตอร์กิสถาน
ไซบีเรีย P.t. altaica ลุ่มแม่น้ำอะมูร์ในรัสเซีย ตอนเหนือของประเทศจีน และเกาหลีเหนือ
ชวา P.t. sondaica เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
จีนใต้ P.t. amoyensis ประเทศจีนตอนใต้
บาหลี P.t. balica อยู่ในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
สุมาตรา P.t. sumatrae เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย
อินโดจีน P.t. corbetti คาบสมุทรอินโดจีน
มลายู P.t. jacksoni ตอนใต้ของคาบสมุทรมลายู


เสือโคร่งหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่และมักจะเป็นช่วงหัวค่ำและเช้ามืด เสือโคร่งมักใช้สายตาและการรับฟังช่วยในการล่ามากกว่าการรับกลิ่น อาหารส่วนใหญ่ของเสือโคร่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น กระทิง วัว กวาง เลียงผา แอนติโลป ควาย เก้ง และหมูป่า บางครั้งก็อาจล่าลูกช้างหรือลูกแรดได้ ในภาวะอาหารขาดแคลน เสือโคร่งก็อาจล่าสัตว์เล็กอย่างลิง นก ปลา หรือสัตว์เลื้อยคลาน บ้างเช่นกัน

เสือโคร่งตัวหนึ่งกินอาหารครั้งละประมาณ 18-40 กิโลกรัม โดยจะเริ่มกินที่สะโพกก่อนเสมอ หากเหยื่อไม่ถูกขโมยไปเสียก่อน มันจะหวนกลับมากินทุกวันอีกเป็นเวลา 3-6 วันจนกว่าซากจะหมดหรือเกือบหมด

เสือโคร่งชอบใช้เล็บข่วนตามต้นไม้ให้เป็ นรอย เพื่อประกาศอาณาเขต และเป็นการบริหารเล็บให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ การประกาศอาณาเขตของตัวเองอีกวิธีหนึ่งคือ การปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่นพุ่มไม้ โคนไม้ หรือก้อนหิน กลิ่นของปัสสาวะยังสามารถระบุตัวเสือโคร่งได้ด้วย

เสือโคร่งไม่กลัวน้ำ ซ้ำยังชอบน้ำมาก ในช่วงกลางวันของฤดูร้อนมันมักลงไปนอนแช่น้ำในทะเลสาบหรือบึง

เสือโคร่งอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่หลายประเภท ขอเพียงแต่ให้มีความรกทึบพอให้เป็นที่หลบภัยและซุ่มซ่อนได้ มีเหยื่อขนาดใหญ่ให้ล่า และมีแหล่งน้ำตลอดปี

เสือโคร่งผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่จะผสมพันธุ์ในราวปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงต้นเดือนเมษายน ตั้งท้องนานประมาณ 93-111 วัน ลูกเสือโคร่งเมื่อแรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 760-1,600 กรัม ลืมตาได้เมื่อมีอายุ 6-14 วัน หย่านมเมื่ออายุได้ประมาณ 3-6 เดือน เมื่ออายุได้ 11-12 เดือนก็พร้อมที่จะออกล่าเหยื่อพร้อมกับแม่ได้ แม่เสือจะปล่อยลูกให้หากินด้วยตัวเองเมื่อลูกเสืออายุได้ 18-24 เดือน

ไซเตสบรรจุชื่อเสือโคร่งบัญชีหมายเลข 1 ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพประชากรไว้ว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ



จากเวปโลกสีเขียว

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...