
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Mammalia
อันดับ Artiodactyla
วงศ์ Tragulidae
สกุล Tragulus
สปีชีส์ T. javanicus
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tragulus javanicus (Osbeck, ค.ศ. 1765)

มีความยาวลำตัวและหัว 40-48 เซนติเมตร ความยาวหาง 65-80 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.7-2 กิโลกรัม
มีการกระจายพันธุ์ในพม่า ไทย ภาคใต้ของลาว กัมพูชา เวียดนาม เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียวและเกาะชวา
มีพฤติกรรมหากินตามลำพัง สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่หลากหลายได้ มักอาศัยและหากินในบริเวณป่าที่รกชัฏ ในฤดูผสมพันธุ์หรือมีลูกอ่อนอาจจะอาศัยเป็นคู่ ออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน โดยมีทางเดินหาอาหารของตัวเอง ซึ่งเรียกว่า "ด่าน" ซึ่งด่านเป็นเพียงทางเดินเล็ก ๆ ปกคลุมด้วยไม้พื้นล่างที่รกทึบ มีนิสัยขี้อายและตื่นตกใจง่าย เมื่อพบศัตรูจะกระโดดหนีไปด้วยความรวดเร็ว มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ก่อนผสมพันธุ์ตัวเมียจะใช้ขาหลังเคาะที่พื้นราว 8 ที ในเวลา 3 วินาที เมื่อตัวผู้ได้ยินเสียงจะเข้ามาหา ใช้เวลาในการตั้งท้องประมาณ 140 วัน ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในช่วงปลายฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์
การศึกษาพฤติกรรมการผสมพันธุ์ การตกลูก และหาระยะเวลาตั้งท้องของกระจงหนูโรคอกเลี้ยงแบบแยกเป็นคู่ ๆ จำนวน 8 คู่ ในศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า โคกไม้เรือ จังหวัดนราธิวาส โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2532 จนถึงเดือนตุลาคม 2535 รวมระยะเวลา 40 เดือน พบว่ากระจงหนูไม่มีฤดูผสมพันธุ์ มีการผสมพันธุ์และตกลูกได้ตลอดปี จะตกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น กระจงหนูเพสเมียการเป็นสัดจะเกิดขึ้นในเวลา 1-2 ชั่วโมง หลังคลอด และช่วงระยะเวลาเป็นสัดจะกินเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ในช่วงการเป็นสัดเท่านั้นกระจงเพศเมียจึงจะยอมรับการผสมพันธุ์ได้อีกจนกว่าจะคลอดลูกอ่อนหรือเข้าช่วงระยะการเป็นสัดใหม่อีก กระจงหนูสามารถจะตั้งท้องลูกตัวต่อไปได้เลยภายในวันเดียวกันกับที่คลอดลูกตัวก่อนและมีระยะตั้งท้องระหว่าง 138-142 วัน
สถานภาพ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น