วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กูปรีหรือโคไพร Bos sauveli

กูปรีหรือโคไพร Bos sauveli




ลักษณะทั่วไป


ลักษณะรูปร่างของกูปรี มีหนอกหลังเป็นสันกล้ามเนื้อบาง ๆ ไม่มีโหนกหนาอย่าง โหนกหลังของกระทิง มีเหนียงคอเป็นแผ่นหนังห้อยยานอยู่ใต้คอ คล้ายวัวบ้านพันธุ์เซบูของอินเดียแต่จะห้อยยาวมากกว่า โดยเฉพาะกูปรีตัวผู้ที่มีอายุมาก ๆ เหนียงคอจะห้อยยาวเกือบติดพื้นดิน ใช้แกว่งโบกไปมาช่วยระบายความร้อนได้เช่นเดียวกับหูช้าง ดั้งจมูกบานใหญ่มีรอยเป็นบั้ง ๆ ตามขวางชัดเจน รูจมูกกว้างเป็นรูปเสี้ยววงเดือน ใบหูแคบสั้น ไม่มีสันกระบังหน้าที่หน้าผากอย่างกระทิงและวัวแดง ใบหน้าของกูปรีจึงดูเรียบแบบวัวบ้าน หางยาว ปลายหางมีพู่ขนดกหนา มีขนตามตัวส่วนมากเป็นสีเทาในกูปรีตัวเมีย และเป็นสีดำในตัวผู้ รูปร่างและการตีวงเขาของกูปรีไม่เหมือนกับเขาของวัวกระทิง วัวแดงหรือวัวบ้านทุกชนิด แต่ไปละม้ายคล้ายกับเขาของจามรี วัวป่าพื้นเมืองแถบเอเซียกลางและธิเบต ลักษณะเป็นเขาบิดอย่างเห็นได้ชัดเจนทั้งของตัวผู้และตัวเมีย แต่ขนาดและรูปทรงต่างกัน เขาของกูปรีตัวผู้มีลำเขาใหญ่ยาวมาก โคนเขาใหญ่และโค้งนูนออก ไม่เว้าเป็นร่องเขาอย่างโคนเขาของกระทิง วัวแดงและกูปรีตัวเมีย มีรอยหยักตามขวางที่เรียกว่า "พาลี" แต่ไม่เห็นเป็นบั้ง ๆ ลึกชัดเจนอย่างพาลีของกระทิงและวัวแดง ลำเขาแต่ละข้างตัวโค้งกว้างลาดมาข้างหน้า ปลายเขาวกบิดชี้ขึ้นแต่ไม่บิดเป็นเกลียวอย่างปลายเขาของตัวเมีย เขาของกูปรีตัวผู้อายุประมาณ 4 ปี จะมีขนาดยาวประมาณ 1 เมตร ระยะนี้ปลายเขาเริ่มแตกตรงปลาย เปลือกเขาชั้นนอกจะแตกออกเป็นพู่ หรือ เป็นเส้นคล้ายไม้กวาดโดยรอบ แกนเขาภายในจะค่อยงอกออกมา พู่เขาจะค่อยยาวขึ้นด้วย ซึ่งอาจยาว ได้ถึง 20 เซนติเมตร ในกูปรีตัวผู้แก่มาก ๆ พู่ปลายเขาเช่นนี้ไม่พบในกระทิงและวัวแดง แต่เปลือกปลายเขามักจะแตกออกเป็นแผ่น ๆ คล้ายกับปลีกล้วยในพวกกระทิงและวัวแดงแก่ ๆ เขาของกูปรีตัวเมียสั้นและเรียวบางกว่าเขาของตัวผู้เกือบเท่าตัว วงเขาตีออกเป็นวงแคบ ๆ ลาดลงมาทางด้านหน้า แล้วบิดเวียนชี้ขึ้น คล้ายเป็นวงเกลียว ช่วงปลายเขาที่บิดชี้ขึ้นนี้ บางครั้งชิดกันดูคล้ายคนยกมือไหว้ คนเขมรจึงมักเรียกว่า เขาพนมพระ หรือเขาไหว้พระ แต่บางคนมองว่าเหมือนพิณฝรั่ง ปลายเขากูปรีตัวเมียจะไม่มีแตกเป็นพู่อย่างปลายเขาตัวผู้ ขนาดของกูปรี โดยเฉลี่ยแล้วตัวผู้จะใหญ่และหนักกว่าตัวเมียมาก ขนาดตัวพอ ๆ กับกระทิง แต่สูงใหญ่กว่าวัวแดง ความยาวของช่วงลำตัวถึงหัว 2.10-2.22 เมตร ความสูงที่ หัวไหล่ 1.71-1.90 เมตร หางยาว 1-1.11 เมตร ถือได้ว่าเป็นวัวป่าที่มีหางยาวที่สุดของไทย น้ำหนักตัว 700-900 กิโลกรัม


ลักษณะนิสัย


พฤติกรรมความเป็นอยู่ของกูปรีส่วนใหญ่คล้ายกับพวกสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วไป คือชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ขนาดฝูงกูปรีในอดีตมีจำนวน 30-40 ตัว มีตัวเมียอาวุโสและอายุมากที่สุดเป็นผู้นำฝูง ส่วนตัวผู้ขนาดใหญ่ ๆ มักชอบแยกตัวไปอยู่รวมกันหลายตัวได้ ซึ่งผิดแผกจากกระทิงและวัวแดง ที่ชอบอยู่โดดเดี่ยวเป็นวัวโทนหรือกระทิงโทน ปกติชอบใช้ชีวิตส่วนใหญ่อาศัยหากินและพักผ่อนอยู่ตามป่าโปร่ง หรือ ป่าโคกที่มีทุ่งหญ้าดินโปร่งและหนองน้ำอุดมสมบูรณ์ ไม่ค่อยชอบอยู่ตามป่าดิบทึบหรือตามป่าเขาสูง ๆ มักพบอาศัยและหากินปะปนไปกับฝูงสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่นได้ แต่ที่พบบ่อยที่สุดอยู่รวมฝูงวัวแดง กับฝูงกระทิง ควายป่า หรือพวกกวางก็พบด้วยเช่นกัน ชอบกินหญ้าต่าง ๆ เป็นอาหารหลักมากกว่าใบไม้ และไม่นอนปลักโคลนอย่างควายป่า นิสัยของกูปรีที่ไม่เหมือนกับวัวแดงและกระทิง คือชอบเอาเขาขวิดกับกิ่งไม้ตามเส้นทางเดินผ่านหรือขวิดเนินขอบแอ่งดินโป่ง หรือ แอ่งน้ำ หรือขวิดคุ้ยพื้นดินตามห้วยเพื่อหาน้ำหรือดินโป่งกินเป็นประจำทำให้เปลือกปลายเขากูปรีตัวผู้แตกออกเป็นพู่ไม้กวาด และยังทำให้พรานป่าสามารถติดตามแกะรอยกูปรีแยกจากวัวแดง และ กระทิงได้ จายรอยขวิดของเขาตามเส้นทางหากินและที่อยู่ได้ง่าย


ถิ่นอาศัย


เขตการกระจายพันธุ์ของกูปรี พบอยู่ในแถบภาคใต้ของลาว ภาคเหนือและภาคตะวันตกของกัมพูชา ภาตตะวันตกของเวียตนาม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในประเทศไทยเคยมีกูปรีอาศัยอยู่ตามป่าแถบเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณ จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานีและนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนติดต่อกับกัมพูชา ต่อมาได้ลดน้อยลง จนมีรายงานการพบกูปรีอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้าย ในประเทศไทยที่ป่า ดงอีจาน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 6 ตัว ในปี พ.ศ. 2491 หลังจากนั้นมีรายงานการพบเห็นกูปรีจากคำบอกเล่าของพรานพื้นบ้าน แต่ก็น้อยมากและไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน คาดว่าจะเป็นกูปรีที่อพยพย้ายถิ่นไปมาตามชายแดนไทย-กัมพูชา


การสืบพันธุ์


ฤดูผสมพันธุ์ของกูปรีอยู่ในช่วงเดือนเมษายน ระยะตั้งท้องประมาณ 9 เดือน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ช่วงใกล้คลอดกูปรีแม่ลูกอ่อนจะแยกตัวออกจากฝูง ไปหาที่คลอดลูกและเลี้ยงลูกตามลำพังนานประมาณ 1 เดือน จึงจะพาลูกกลับเข้าฝูงเดิม ต่างจากแม่กระทิงและวัวแดง ที่จะพาลูกกลับเข้าฝูงทันทีที่ลูกแข็งแรงพอจะเดินตามแม่ได้แล้ว ลูกกูปรีแรกเกิดจะมีสีขนตามตัวเป็นสีน้ำตาลคล้าย ๆ ลูกวัวแดง จนอายุประมาณ 4-5 เดือน สีขนจะเริ่มเปลี่ยนไป ขนตัวเมียจะเปลี่ยนเป็นสีเทาขี้เถ้า ตัวผู้สีขนจะเริ่มเป็นสีดำที่บริเวณคอ ไหล่ และสะโพกก่อน ส่วนบริเวณท้องจะเป็นสีเทาขาว ๆ เมื่ออายุมากขึ้นจึงจะเปลี่ยนเป็นสีดำทั้งตัว ยกเว้นแต่บริเวณหน้าแข้งลงไปถึงปลายกีบขาทั้ง 4 ข้าง จะเป็นสีขาวอย่างถุงเท้าตลอดชีวิต


สถานภาพปัจจุบัน


เปรียบเทียบกับสัตว์จำพวกวัวป่าด้วยกัน สถานการณ์ความอยู่รอดของกูปรีอยู่ในขั้นวิกฤตที่สุด มีสาเหตุสำคัญคือการถูกล่า และพื้นที่อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่ในภาวะสงคราม อีทั้งกูปรีเป็นวัวป่าชนิดเดียวที่ยังไม่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้เลย คนพื้นเมืองในท้องถิ่นชอบล่ากูปรี เพราะเนื้ออร่อย ตัวใหญ่ หนังและเขาราคาดี และยังเชื่อว่ากระดูกที่หนอกหลังของกูปรี และกระทิง นำมาบดละเอียดผสมกับเหล้ากินแล้วร่างกายจะแข็งแรง และยังช่วยให้ร่างกายอบอุ่นอีกด้วย ส่วนสภาวะสงครามซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของกูปรีมากที่สุดนั้น เพราะนับจากเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครองภายในของกลุ่มประเทศอินโดจีนทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งล้วนเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของกูปรี ทำให้เกิดสงครามสู้รบต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ถิ่นที่อยู่และชีวิตของกูปรีจึงถูกทำลายและฆ่าตาม โดยไม่สามารถประเมินได้ ในปรเทศไทยนับจากรายงานว่ากูปรีฝูงสุดท้ายจำนวน 6 ตัว ที่ป่าดงอีจาน จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกฆ่าตายหมดไปในปี พ.ศ. 2491 นับจากนั้นมา มีแต่รายงานจากพรานพื้นบ้านว่า พบเห็นกูปรีอพยพหนีน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนเข้ามาในเขตไทยแถบเขาพนมดงรัก อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2525 จำนวน 5 - 6 ตัว แต่ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันชัดได้คาดว่ากูปรีฝูงนี้หนีกลับไปฝั่งกัมพูชาในช่วงฤดูแล้ง และไม่ได้กลับมาให้เห็นอีกเลย ปัจจุบันคาดว่า นอกจากในกัมพูชาแล้ว น่าจะยังมีกูปรีอาศัยอยู่ในแถบป่าเมืองจำปาศักดิ์ ของประเทศลาว และในเขตจังหวัด Thua Thien และประเทศเวียดนาม กูปรีจัดเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ข้อมูลจากเวป วนกรด็อทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...