วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บ่าง


การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Mammalia

อันดับ Dermoptera
Illiger, ค.ศ. 1811
วงศ์ Cynocephalidae
Simpson, ค.ศ. 1945


บ่าง หรือ พุงจง หรือ พะจง (Colugo, Flying lemurs) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกหนึ่งในอันดับบ่าง (Dermoptera) มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ พบได้แต่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอยู่ 2 ชนิด (Species) ด้วยกัน คือ Cynocephalus variegatus พบในภูมิภาคซุนดาอิคและมลายู และชนิด Cynocephalus volans

บ่างชนิด Cynocephalus variegatus มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ ผิวหนังย่น ตามีขนาดใหญ่สีแดง ใบหูเล็ก มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว สีขนมีหลากหลายมาก โดยสามารถเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำตาลแดง หรือเทา รวมทั้งอาจมีลายเลอะกระจายไปทั่วตัวด้วย โดยตัวเมียมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ หางมีลักษณะแหลมยาว มีพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว มีความยาวหัวและลำตัวโตเต็มที่ราว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร น้ำหนัก 1-1.8 กิโลกรัม

บ่างมักอาศัยและหากินอยู่บนต้นไม้สูง และสามารถอาศัยได้ในป่าทุกสภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ป่าเสื่อมโทรม หรือตามเรือกสวนไร่นาที่มีการทำเกษตรกรรม ไม่ค่อยลงมาพื้นดิน ออกหากินในเวลากลางคืน โดยตอนกลางวันจะนอนหลับพักผ่อนตามยอดไม้หรือโพรงไม้ กินอาหารจำพวกพืช ได้แก่ ยอดไม้ ดอกไม้ เป็นหลัก สามารถร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นหนึ่งได้ไกลกว่ากระรอกบินมาก ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 60 วัน ออกลูกครั้งละตัว บางครั้งอาจมี 2 ตัว ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แม่บ่างอาจออกลูกมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนเดิม โดยลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่น

ส่วนบ่างชนิด Cynocephalus volans มีลักษณะคล้ายบ่างชนิด C. variegatus แต่มีรูปร่างเล็กกว่า และพบได้ในหมู่เกาะแถบประเทศฟิลิปปินส์ตอนใต้เท่านั้น

บ่าง เป็นสัตว์ที่มีเสียงร้องคล้ายเสียงคนร้องไห้ และความเป็นสัตว์ที่มีหน้าตาน่าเกลียดและหากินในเวลากลางคืน จึงเป็นที่รับรู้กันดีของคนที่อาศัยอยู่ชายป่าหรือผู้ที่นิยมการผจญภัย ว่าเสียงร้องของบ่างน่ากลัวเหมือนผี

เมื่อดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า หรือ ยามโพล้เล้ บ่างจะแสดงพฤติกรรมชวนสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือ **บ่างจะออกมาจากที่หลบนอน แล้วห้อยตัวลงมาคร้ายค้างคาว โดยใช้เท้าหลังทั้งสองเกาะกิ่งไม้ แล้วทิ้งลำตัวห้อยลงมาในแนวดิ่ง ส่วนหัวและเท้าหน้าจะม้วนงอเข้าหาลำตัว (หากมองผิวเผินจะเหมือนค้างคาวแม่ไก่กำลังห้อยหัวมาก) พฤติกรรมนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ชัดเจน ** บ่างจะห้อยตัวเช่นนี้ไปจนกว่าแสงสุดท้ายจะลับขอบฟ้าไป แล้วจะปีนป่ายไปหาต้นไม้ต้นประจำในการร่อน มักจะเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มสูงๆ ที่ยืนอยู่เดี่ยวๆ เพราะจะทำให้มีพื้นที่ในการร่อนมาก

ชาวบ้านมักสับสน ระหว่าง บ่าง กับ กระรอกบิน ที่จริงแล้ว บ่าง กับ กระรอกบินเป็นคนละตัวกัน *คนทางใต้จะเรียกบ่างว่า พะจง หรือ พุงจง ส่วนคำว่าบ่างจะใช้เรียก กระรอกบิน ซึ่งจะเรียกสลับกับเลย

ในสำนวนไทยมีคำที่กล่าวเกี่ยวกับบ่างว่า บ่างช่างยุ มีความหมายเปรียบกับ คนที่ชอบยุแยงให้ผู้อื่นแตกแยกกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...