วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปลาบู่




ปลาบู่ หรือ บู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต

มีชื่อสามัญว่า Sand Gody, Marbled Sleepy Gody

ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyeleotoris marmoratus Bleeker

ปลาบู่เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สามารถทำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ เนื่องจากความต้องการบู่ทรายจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นผลให้ปลาบู่ทรายมีราคาแพงขึ้น ในอดีตการเลี้ยงปลาบู่ทรายนิยมเลี้ยงกันมากในกระชังแถบลุ่มน้ำและลำน้ำสาขาบริเวณภาคกลาง ตั้งแต่นครสวรรค์ อุทัยธานี เรื่อยมาจนถึงจังหวัด ปทุมธานี โดยมีจังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งเลี้ยงส่งออกที่ใหญ่ที่สุด สำหรับปัญหาการเลี้ยงปลาบู่ทรายขณะนี้มี 3 ประการ คือ

1.พันธุ์ปลาที่นับวันจะหายาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
2.ผู้เลี้ยงขาดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเพาะเลี้ยง
3.สภาพสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะเลี้ยงปลา

รูปร่างลักษณะ

ปลาบู่ทราย มีลักษณะลำตัวกลมยาว ความลึกลำตัวประมาณ 1 ใน 3.5 ของความยาวมาตรฐานลำตัว ส่วนหัวยาวเป็น 1 ใน 2.8 ของความยาวมาตรฐานของลำตัว หัวค่อนข้างโต และด้านบนของหัวแบนราบ หัวมีจุดสีดำประปราย ปากกว้างใหญ่เปิด ทางด้านบนตอนมุมปากเฉียงลงและยาวถึงระดับกึ่งกลางตา ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบน ทั้งขากรรไกรบนและล่างมีฟันแหลมซี่เล็กๆ ลักษณะฟันเป็นฟันแถวเดียว ลูกตาลักษณะโปนกลมอยู่บนหัวถัดจากริมฝีปากบนเล็กน้อย รูจมูกคู่หน้าเป็นหลอดยื่นขึ้นมาอยู่ติดกับร่องที่แบ่งจงอยปากกับริมฝีปากบน ครีบหูและครีบหางมีลักษณะกลมมนใหญ่ มีลวดลายดำและสลับขาว มีก้านอ่อนอยู่ 15-16 ก้าน ครีบหลัง 2 ครีบ ครีบอันหน้าสั้นเป็นหนาม 6 ก้าน เป็นก้านครีบสั้นและเป็นหนาม ครีบอันหลังเป็นก้านครีบอ่อน 11 ก้าน ครีบท้องหรือครีบอกอยู่แนวเดียวกับครีบหูและมีก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ครีบอกของปลาบู่ใน Subfamily Eleotrinae แยกจากกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแตกต่างจากปลาบู่ชนิดอื่นในครอบครัว Gobiidae ซึ่งมีครีบท้องติดกันเป็นรูปจาน ครีบก้นอยู่ในแนวเดียวกับครีบหลังอันที่ 2 มีก้านครีบอ่อน 7 ก้าน และมีอยู่ในแนวเดียวกับครีบหลังอันที่ 2 และมีความยาวเท่ากับครีบหลังอันที่ 2 ส่วนของครีบมีลายสีน้ำตาลดำแดงสลับขาวเป็นแถบๆ และมีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วไป ลำตัวมีเกล็ดแบบหนามคล้ายซี่หวีและมีแถบสีดำขวางลำตัว 4 แถบ ด้านท้องมีสีอ่อน สีตัวของปลาบู่ทรายแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย

ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาขนาดกลาง และเป็นปลาชนิดเดียวในครอบครัวนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ปกติมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร เคยพบยาวถึง 60 เซนติเมตร

การแพร่กระจาย

ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อย ในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู ได้แก บอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ไทย สำหรับในประเทศไทยพบปลาบู่ขยายพันธุ์ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง และสาขาทั่วทุกภาคตามหนอง บึง และอ่างเก็บน้ำต่างๆ

แหล่งที่อยู่อาศัย

ปลาบู่ทราย เป็นปลากินเนื้อ ที่ชอบอยู่นิ่งๆตามดินอ่อน พื้นทรายและหลบซ่อนตามก้อนหิน ตอไม้ เสาไม้ รากหญ้าหนาๆ เพื่อรอให้เหยื่อผ่านมาแล้วเข้าโจมตีทันทีด้วยความรวดเร็ว ปลาบู่ทรายพบทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อย ลูกปลาบู่ทรายชอบซ่อนตัวบริเวณราก พืชพันธุ์ไม้น้ำพวกรากจอก รากผัก

การสืบพันธุ์

-ความแตกต่างลักษณะเพศ การสังเกตลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาบู่เพศผู้และเมีย ดูได้จากอวัยวะเพศที่อยู่ใกล้รูทวาร ปลาเพศผู้มีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดเล็กสามเหลี่ยมปลายแหลม ส่วนตัวเมียมีอวัยวะเพศเป็นแผ่นเนื้อขนาดใหญ่และป้านตอนปลายไม่แหลมแต่เป็นรูขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายถ้วยน้ำชาขนาดเล็ก เมื่อพร้อมผสมพันธุ์ ปลายอวัยวะเพศทั้งตัวผู้และตัวเมียมีสีแดง บางครั้งเห็นเส้นเลือดฝอยสีแดงที่มาเลี้ยงอวัยวะเพศได้ชัดเจน
-การเจริญพันธุ์และฤดูการวางไข่ ปลาบู่โตเต็มวัยเมื่อมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ปลาบู่ที่สามารถขยายพันธุ์ได้มีขนาดตั้งแต่ 8 เซนติเมตรขึ้นไป ปลาบู่สามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปียกเว้นในช่วงฤดูหนาว ตลอดฤดูกาลการวางไข่สามารถวางไข่ได้ประมาณ 3 ครั้งต่อปี
-พฤติกรรมการผสมพันธุ์และวางไข่ การผสมพันธุ์ปลาบู่ในธรรมชาติพบว่า ปลาบู่ตัวผู้จะหาสถานที่ในการวางไข่ ได้แก่ ตอไม้ เสาไม้ ทางมะพร้าว ฯลฯ แล้วทำความสะอาดวัสดุดังกล่าว หลังจากนั้นตัวผุจะเข้าเกี้ยวพาราสี พร้อมไล่ต้อนตัวเมียไปที่รังที่เตรียมไว้ การผสมพันธุ์เริ่มตั้งแต่ตอนหัวค่ำจนถึงเช้ามืด โดยผสมพันธุ์แบบภายนอกตัวปลา

การเพาะพันธุ์ปลาบู่
มี 2 วิธี คือ

1.วิธีการฉีดฮอร์โมน
2.วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ

สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานีได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาบู่เป็นเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ โดยเน้นการเพาะพันธุ์วิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งให้จำนวนรังไข่ได้มากกว่าวิธีฉีดฮอร์โมนและผสมเทียม และสามารถอนุบาลลูกปลาบู่โดยการให้อาหารธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีวิธีการดำเนินการดังนี้

1.การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีมีผลทำให้อัตราการฟักและอัตรารอดสูง และได้ลูกปลาที่แข็งแรง พ่อแม่พันธุ์ปลา

ปลาบู่ที่ดีควรมีลักษณะ

-ควรเป็นปลาวัยเจริญพันธุ์ เพราะไข่ที่ได้มีอัตราการฟักและรอดสูง
-พ่อแม่พันธุ์ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง 300-500 กรัม แต่ไม่ควรเกิน 1 กิโลกรัม และไม่ควรเป็นปลาที่อ้วนหรือผอมเกินไป
-เมื่อจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาจากที่กักขังใหม่ๆ ควรรีบคัดปลาที่มีสีนวลดูปราดเปรียว และควรเป็นปลาที่ปรับสีสู่สภาพเดิมได้เร็วเมื่อหายตกใจ ไม่ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีเหลืองซีดผิดปกติ
-เมื่อลูบตามตัวปลาจากหัวไปหางแล้วรู้สึกปลาลื่น แสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพดี
-บริเวณนัยน์ตาไม่ขุ่นขาว
-ไม่ใช่ปลาที่จับได้ โดยการใช้ไฟฟ้าชอร์ตเพราะเมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งแล้ว ปลาจะตายมากหรือตายหมดทั้งกระชัง
-ไม่มีพยาธิภายนอกหรือเชื้อราเกาะตามลำตัว ถ้ามีปริมาณไม่มากควรกำจัด รักษา และป้องกันก่อนนำไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์
-บริเวณครีบอก ครีบหู ครีบหางและครีบท้องไม่ควรมีบาดแผลฉีกลึกถึงโคนครีบ
ตามลำตัวไม่ควรมีบาดแผล ถึงแม้จะเป็นบาดแผลเล็กๆก็ตามเพราะจะทำให้ติดเชื้อโรคและลุกลามตายในที่สุด ถ้าจำเป็นควรรักษาให้หายก่อนนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์

2.การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์ การเตรียมบ่อพ่อแม่พันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ขนาดของบ่อเพาะพันธุ์ไม่ควรใหญ่หรือเล็กจนเกินไปเพื่อสะดวกต่อการดูแลและจัดการกับพ่อแม่พันธุ์ สำหรับบ่อขนาด 800 ตารางเมตร ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 150 คู่ ให้ได้ผลผลิตดีที่สุด
การเตรียมบ่อควรวิดให้แห้งพร้อมกำจัดศัตรูปลาออกให้หมด และที่สำคัญควรเก็บวัสดุปลาที่สามารถใช้เป็นที่วางไข่ได้ออกให้หมด เช่น พวกรากไม้ ตอไม้ หิน พืชน้ำ ทางมะพร้าว หรือวัสดุอื่น เนื่องจากปลาจะวางไข่ที่วัสดุที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งยุ่งยากต่อการรวบรวมรังไข่ปลาบู่และการฟักไข่อีกด้วยควรตากบ่อทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วใส่ปูนขาว ในอัตรา 50-100 กิโลกรัม ต่อไร่ จากนั้นเปิดน้ำเข้าบ่อและควรกรองน้ำด้วยตะแกรงตาถี่ เพื่อป้องกันไข่ปลาและลูกปลาชนิดอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นศัตรูโดยตรงต่อไข่ปลาบู่ ถึงแม้ว่าพ่อแม่พันธุ์ปลาบู่จะคอยเฝ้าอยู่ก็ตาม อีกทั้งยังเป็นศัตรูทางอ้อม คือไปแย่งอาหารปลาบู่อีกด้วย

สำหรับระดับน้ำในบ่อ ควรให้อยู่ในช่วง 1.00-1.10 เมตร แล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติขึ้นในบ่อและควรวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำก่อนปล่อยปลา เพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนั้นมีความเหมาะสมแล้วจึงปล่อยพ่อแม่พันธุ์

การเลี้ยงปลาบู่

ปลาบู่มีราคาแพงจึงเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้มีผู้สนใจเลี้ยงปลาบู่อย่างกว้างขวาง การเลี้ยงปลาบู่มีเลี้ยงกันใน บ่อซีเมนต์ บ่อดิน และกระชัง แต่ที่นิยมเลี้ยงกันมากเป็นการเลี้ยงในกระชัง ส่วนบ่อดินก็มีผู้เลี้ยงกันอยู่บ้างทั้งในรูปแบบการเลี้ยงแบบเดี่ยว แบบรวม และแบบผสมผสาน สำหรับการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ มีการเลี้ยงอยู่น้อยมาก เพราะลงทุนสูงและต้องการน้ำสะอาดในการเลี้ยง

รูปแบบการเลี้ยงปลาบู่

1.การเลี้ยงปลาบู่ในบ่อดิน ส่วนใหญ่เลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่น เช่น เลี้ยงร่วมกับปลานิลเพื่อไว้คุมจำนวนประชากรของลูกปลานิลไม่ให้แน่นบ่อเช่นเดียวกับปลาช่อน นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงร่วมกับปลาชนิดอื่นใต้เล้าไก่หรือเล้าหมูโดยปล่อยอัตราส่วนปลาบู่ต่ำซึ่งขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงจะหาซื้อพันธุ์ได้มากน้อยเท่าใด เมื่อเลี้ยงปลามีน้ำหนัก 400-800 กรัมขึ้นไป จึงจับจำหน่าย แล้วหาพันธุ์ปลามาปล่อยชดเชย อาหารที่ให้เป็นพวกปลาเป็ดบดปั้นเป็นก้อนๆใส่ลงในเรือแจวให้อาหารเป็นจุดๆ รอบบ่อ จุดที่ให้อาหารมีกระบะไม้ปักอยู่เหนือก้นบ่อเล็กน้อย ในช่วงตอนเย็นปริมาณอาหารที่ให้ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 8-12 เดือน จับจำหน่าย น้ำหนักปลาที่นิยมรับซื้อตั้งแต่ 400-800 กรัม ไม่เกิน 1 กิโลกรัม
2.การลี้ยงปลาบู่ในกระชัง ปลาบู่เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงในกระชัง เนื่องจากสามารถเลี้ยงได้หนาแน่นในที่แคบได้ และเป็นปลากินเนื้อจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารธรรมชาติมากนัก ถึงแม้ว่าปลาบู่มีนิสัยชอบอยู่นิ่งเป็นส่วนใหญ่ แต่ชอบที่ที่มีน้ำไหลผ่านโดยเฉพาะน้ำที่มีความขุ่นยิ่งดีเพราะปลาบู่ตกใจง่ายเมื่อเลี้ยงในน้ำใส ปลาบู่เป็นปลาที่มีราคาแพง ที่ปากกระชังราคากิโลกรัมละ 320 บาท(ราคาปี 2541) การเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง เลือกสถานที่ การเลือกที่ที่เหมาะสมในการวางกระชังปลาบู่นับเป็นจุดเริ่มต้นการเลี้ยงที่สำคัญที่สุด ถ้าเลือกสถานที่เลี้ยงได้ดี ทำให้ปลาบู่เจริญเติบโตเร็ว อัตรารอดสูง ทุนค่าใช้จ่ายในการจัดการ

สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง คือ

-คุณสมบัติของน้ำดีและมีปริมาณเพียงพอตลอดปี
-ใกล้แหล่งหาพันธุ์ปลาและอาหารปลาหาได้ง่ายราคาถูก
-การคมนาคมสะดวกต่อการลำเลียงพันธุ์ปลาและอาหารปลา
-ไม่อยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีสำหรับการเกษตรมากนักเพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษที่ปนมากับน้ำ
-น้ำมีความขุ่นพอสมควรเพราะปลาบู่ชอบที่มืด ช่วยให้ปลากินอาหารได้ดีและไม่ตกใจง่าย
-ความลึกของน้ำไม่ควรต่ำกว่า 2 เมตร
-มีกระแสน้ำที่ไหลแรงพอควร
-ปลอดภัยจากการถูกลักขโมย
-ปราศจากศัตรูและภัยธรรมชาติ
-ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ และไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...