วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หอยขม

หอยขม




ชื่อสามัญ POND SNAIL , RIVER SNAIL
ชื่อวิทยาศาสตร์ Filopaludina martensi

ลักษณะทั่วไป
หอยขมเป็นหอยฝาเดียวอาศัยในน้ำจืดมีขนาดเล็ก เปลือกเป็นเกลียวกลมยอดแหลม เปลือกหนาและแข็ง ผิวชั้นนอกเป็นสีเขียวแก่ ฝาปิดเปลือกเป็นแผ่นกลม ตีนใหญ่ จะงอยปากสั้นทู่ ตามีสีดำอยู่ตรงกลางระหว่างโคนหนวด ตัวผู้มีหนวดเส้นข้างขวาพองโตกว่าเส้นข้างซ้าย ลักษณะพิเศษของหอยชนิดนี้ จะมีอวัยวะเพศทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในตัวเดียวกัน ออกลูกเป็นตัว และผสมพันธุ์ได้ด้วยตัวของมันเองเมื่ออายุได้ 60 วัน หอยขมออกลูกเป็นตัวครั้งละประมาณ 40-50 ตัว ลูกหอยขมที่ออกมาใหม่ๆมีวุ้นหุ้มอยู่ แม่หอยขมจะใช้หนวดแทงวุ้นจนแตก เพื่อให้ลูกหอยหลุดออกจากวุ้น ลูกหอยขมสามารถเคลื่อนไหวได้ทันทีเมื่อออกจากตัวแม่ จะพบเห็นชุกชุมอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม หอยขมชอบอาศัยในแหล่งน้ำจืด เช่นในคู คลอง หนอง บึง ที่น้ำไม่ไหลแรงและเป็นน้ำนิ่ง มีระดับความลึกตั้งแต่ 10 เซนติเมตร ถึง 2 เมตร มักเกาะอยู่กับพันธุ์ไม้น้ำ เสาหลัก ตอไม้ หรือตามพื้น กินอาหารพวกสาหร่าย และอินทรีย์สาร ใบไม้ใบหญ้าผุๆในน้ำ รวมทั้งซากอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยและผงตะกอนที่จมอยู่ตามผิวดิน หอยขมเป็นสัตว์น้ำที่ให้คุณค่าทางอาหาร มีโปรตีน 12 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรต 4 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 2 เปอร์เซ็นต์ และความชื้น 78 เปอร์เซ็นต์ จึงเหมาะสำหรับนำมาประกอบอาหารแต่ก่อนรับประทานควรทำให้หอยขมสุกเต็มที่ เนื่องจากหอยขมมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ในลำไส้ เมื่อเข้าสู่คนแล้วสามารถเจริญเติบโตในคนได้

การเลี้ยงหอยขม
วิธีที่หนึ่ง คือการเลี้ยงในกระชัง โดยใช้กระชังไนล่อนชนิดตาถี่ทำเป็นรูปกระชัง ขนาด 3 คูณ 6 เมตร สูง 120 เซนติเมตร นำกระะชังไปผูกในแหล่งน้ำด้วยการให้มุมล่างและมุมบนของกระชังทั้งสี่ด้านยึดติดกับเสา 4 ต้น หรือเพิ่มตรงกลางความยาวของกระชังอีกด้านละต้นรวมเป็น 6 ต้น ขอบบนของกระชังอยู่เหนือระดับน้ำ 20-30 เซนติเมตร อย่าให้ก้นกระชังติดพื้นดิน เพราะจะทำให้ก้นกระชังจมโคลน เมื่อผูกกระชังเรียบร้อยแล้วใส่ทางมะพร้าวสดขนาดยาว 1 เมตร ลงไป 2-3 ทางพยายามอย่าให้ทางมะพร้าวทับกัน และควรผูกไว้เพื่อไม่ให้ทางมะพร้าวทับก้นกระชังอาจทำให้เกิดการฉีดขาดของกระะชังได้ จากนั้นจึงใส่หอยขมขนาดใหญ่ หรือขนาดโตที่ใช้รับประทานโดยทั่วไป ลงไป 2 กิโลกรัมต่อกระชัง โดยคัดเลือกหอยขมที่ยังสด ซึ่งสังเกตได้จากการนำหอยขมไปแช่น้ำทิ้งไว้ ถ้าหอยขมคว่ำตัวติดกับภาชนะแสดงว่าหอยขมยังมีชีวิตอยู่ หลังจากใส่หอยขมแล้ว วันที่สองยกทางมะพร้าวขึ้นดูจะพบหอยขมเล็กๆ เกาะอยู่ตามทางมะพร้าว ทางมะพร้าวที่แช่อยู่ในน้ำนานๆจะเน่าเปื่อยผุพัง จึงควรเปลี่ยนทางมะพร้าวใหม่เดือนละ 2 ครั้ง หอยขมที่เลี้ยงในกระชังจะเกาะกินตะไคร่น้ำและซากเน่าเปื่อยอยู่ตามทางมะพร้าว ตลอดจนบริเวณด้านข้างและก้นกระชัง โดยมิต้องให้อาหารเสริมแต่อย่างใด หลังจาก 2 เดือนจึงทยอยคัดเลือกเก็บตัวใหญ่ขึ้นมารับประทานหรือจำหน่ายเพื่อไม่ให้หอยขมอยู่กันหนาแน่นเกินไป จะทำให้หอยขมเจริญเติบโตช้า
วิธีที่สอง คือการเลี้ยงในร่องสวน เริ่มแรกปล่อยพันธุ์หอยขมขนาดประมาณ 60 ตัว ต่อกิโลกรัม จำนวน 2 กิโลกรัม โดยการตัดทางมะพร้าวขนาด 1-2 เมตรปักลงไปเป็นจุดๆให้ทั่วร่องสวน เมื่อทางมะพร้าวเน่าเปื่อยหรือมีตะไคร่จับ หอยก็จะเข้ามาเกาะและกินตะไคร่น้ำเป็นอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารใดๆ ใช้ระยะเวลาเลี้ยงเพียง 6 เดือน จากจำนวนที่ปล่อย 2 กิโลกรัม ระยะเวลาการเลี้ยง 6 เดือน จะได้ผลผลิตหอยรวมทั้งหมดประมาณ 100 กิโลกรัม

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
การเก็บเกี่ยวผลผลิตหอยขมสามารถกระทำได้ง่ายมาก โดยการยกทางมะพร้าวขึ้นมาหรือยกขอบกระชังขึ้นมาก็จะพบหอยขมเกาะอยู่ตามทางมะพร้าวหรือบริเวณด้านข้างกระชัง ซึ่งทำให้สามารถคัดเลือกเก็บหอยขมได้ตามขนาดและจำนวนที่ต้องการ


ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...