วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร




การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Aves

อันดับ Passeriformes
วงศ์ Hirundinidae
วงศ์ย่อย Pseudochelidoninae
Shelley, 1896

สกุล Pseudochelidon
Hartlaub, 1861

นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกตาพอง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pseudochelidon sirintarae (Thonglongya, 1968) ชื่อสามัญ White-eyed River-Martin เป็นนกจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ นกนางแอ่น พบครั้งแรกบริเวณบึงบอระเพ็ด เมื่อ พ.ศ. 2511 เป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดตาม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

ลักษณะ
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร มีความยาวจากปากจดหาง ประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบ เรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ลักษณะโดยทั่วไป ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงินเข้ม บางส่วน บริเวณหน้าผาก มีกระจุกขนสีดำ คล้ายกำมะหยี่ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตา และ ม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ขนบริเวณตะโพกสีขาว ตัดกับสีของลำตัว ขนหาง มนกลม แต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมา เป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม. มองเห็นได้ชัดเจน บริเวณใต้คอสีน้ำตาลอมดำ แข้ง และ ขา สีชมพู

อุปนิสัย
อุปนิสัย แหล่งผสมพันธุ์วางไข่และที่อาศัยในฤดูร้อนยังไม่ทราบ ในบริเวณบึงบอระเพ็ดนกเจ้าฟ้าจะเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อ และใบสนุ่นภายในบึงบอระเพ็ดบางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อนกลุ่มนกเหล่านี้มีจำนวนนับพันตัว อาหารเชื่อว่าได้แก่แมลงที่โฉบจับได้ในอากาศ

แหล่งที่อยู่อาศัยและการแพร่กระจาย
อาศัยอยู่ตามดงอ้อและพืชน้ำในบริเวณบึงบอระเพ็ด พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น พบในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว

การค้นพบ
ในปี พ.ศ. 2510 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย) ได้ทำการดักจับนกนางแอ่นจากบึงบอระเพ็ด เพื่อทำการศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ และในระหว่างเดือน มกราคม–กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 คุณกิตติ ทองลงยา ได้ค้นพบนกตัวหนึ่งที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างจากนกนางแอ่นอื่นๆ ที่จับได้ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตาขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาอย่างชัดเจน

จากการตรวจสอบขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะจำแนกนกชนิดนี้เข้ากับนกสกุลใดๆของประเทศไทยได้ คุณกิตติ ทองลงยาจึงได้เก็บตัวอย่างของตัวเบียน คือ เห็บ เหา และไร ของนก ส่งไปให้ สถาบันสมิทโซเนียน และ บริทิชมิวเซียม ช่วยตรวจและวิเคราะห์หาชนิดของนกดังกล่าว ผลก็คือมันมีเหาชนิดเดียวกับนกนางแอ่นเทียมสกุล Pseudochelidon ซึ่งพบในแถบลุ่มน้ำคองโก แอฟริกา และจากนั้นได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะอวัยวะต่างๆ ภายในของนกตัวนี้กับตัวอย่างนกนางแอ่นเทียมคองโก (Pseudochelidoninal eurystominal) จึงลงความเห็นว่านกตัวนี้จะต้องเป็นนกในสกุล Pseudochelidon อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากว่านกในสกุลนี้เคยมีเพียงชนิดเดียวคือ นกนางแอ่นเทียมคองโก ดังนั้นนกที่ค้นพบที่บึงบระเพ็ดนี้ นักปักษีวิทยาทั่วโลกจึงยอมรับว่าเป็นนกสกุล Pseudochelidon ชนิดใหม่ของโลก

นักปักษีวิทยาของเมืองไทยต่างมีความเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา (พระยศขณะนั้น) ทรงเป็นผู้ที่สนพระทัยในเรื่องธรรมชาติวิทยาของเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอพระราชทานนามมาตั้งชื่อนกชนิดนี้ว่า “นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร” หรือ White-eyed River Martin (Pseudochelidon sirintarae)

สถานภาพในปัจจุบัน
เป็นนกเฉพาะถิ่น (endermic species) ที่พบได้เพียงแห่งเดียวในโลก คือที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นนกโบราณที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้น้อย จึงมีเหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมาก มีรายงานการค้นพบที่สามารถยืนยันได้เพียง 10 ตัวเท่านั้น และจากรายงานการพบเห็นครั้งหลังสุด ในปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่ไม่ได้เห็นนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอีกเลย และจากการจัดให้มีการประชุมของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง สถานภาพทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย โดยกลุ่มนักชีววิทยาในประเทศไทย เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2539 นั้น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ได้ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ปัจจุบัน IUCN และสำนักงานนโยบาย และแผนสิ่งแวดล้อม (2540) จัดนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ซึ่งอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยหรือจากโลก เพราะ หลายปีที่ผ่านมาไม่เคยมีรายงานการพบนกชนิดนี้อีกเลย นอกจากนี้พระราชบัญญัติ คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้จัดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนอีกด้วย

สาเหตุของการใกล้สูญพันธ์
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกที่สำคัญในด้านการศึกษาความสัมพันธ์ของนกนางแอ่น นกชนิดที่มีความสัมพันธ์กับนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมากที่สุด คือนกนางแอ่นคองโก (Pseudochelidon euristomina) ที่พบตามลำธารในประเทศซาอีร์ ในตอนกลางของแอฟริกาตะวันตก แหล่งที่พบนกทั้ง 2 ชนิดนี้ห่างจากกันถึง 10,000 กิโลเมตร ประชากรในธรรมชาติของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเชื่อว่ามีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นนกชนิดโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน แต่ละปีในฤดูหนาวจะถูกจับไปพร้อมๆกับนกนางแอ่นชนิดอื่น นอกจากนี้ที่พักนอนในฤดูหนาว คือ ดงอ้อ และพืชน้ำอื่นๆที่ถูกทำลายไปโดยการทำการประมง การเปลี่ยนหนองบึงเป็นนาข้าว และการควบคุมระดับน้ำในบึงบรเพ็ดเพื่อการพัฒนาหลายรูปแบบ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลเสียต่อการคงอยู่ของพืชน้ำและต่อระบบนิเวศการอยู่อาศัยของนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...