วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กระรอก

กระรอก





อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Mammalia

อันดับ Rodentia
วงศ์ Sciuridae

กระรอก จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดลำตัวเล็ก ขนปุยปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย นัยนตากลมดำ หางเป็นพวงฟู จัดอยู่ในประเภทสัตว์ฟันแทะ

กระรอกอาจแบ่งได้เป็น 3 พวกใหญ่ ๆ ได้แก่ กระรอกต้นไม้ (tree squirrels) กระรอกดิน (ground squirrels) และ กระรอกบิน (flying squirrels)

วงศ์กระรอกมี วงศ์ย่อย 2 วงศ์ คือ Pteromyinae ได้แก่ กระรอกบิน และวงศ์ Sciurinae ได้แก่ กระรอกต้นไม้, กระรอกบิน, ชิพมั้งค์

กระรอกต้นไม้ เป็นกระรอกที่มักพบเห็นได้บ่อยและคุ้นเคยกันดี มีหางยาวเป็นพวงสวยงาม มีกรงเล็บแหลมคม และมีใบหูใหญ่ บางชนิดมีปอยขนที่หู ส่วนกระรอกบินนั้น จะมีพังผืดข้างลำตัว สำหรับกางเพื่อร่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง มักเป็นหากินในตอนกลางคืน มีตาสะท้อนแสงไฟ กระรอกดิน มักจะมีรูปร่างสั้น และล่ำสันกว่ากระรอกต้นไม้ มีขาหน้าแข็งแรงใช้สำหรับการขุดดิน หางของกระรอกดินนั้นจะสั้นกว่าหางของกระรอกต้นไม้ และไม่ฟูเป็นพวงนัก และเช่นเดียวกับสัตว์ฟันกัดแทะชนิดอื่น ๆ กระรอกจะมีนิ้วเท้าหลังข้างละ 5 นิ้ว และ นิ้วเท้าหน้าข้างละ 4 นิ้ว ตรงส่วนที่น่าจะเป็นนิ้วโป้งจะกลายเป็นปุ่มนูน ๆ ซึ่งถูกพัฒนาให้เหมาะสำหรับจับอาหารมาแทะ

กระรอกมีขนาดใหญ่เล็กต่าง ๆ กันไปตามสายพันธุ์ และสามารถแบ่งตามขนาดได้ 3 กลุ่ม คือ ขนาดใหญ่ เช่น พญากระรอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยพบอยู่เพียง 2 ชนิด คือ พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor) และพญากระรอกเหลือง (Ratufa affinis) ซึ่งได้ถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ขนาดกลาง เช่น กระรอกหลากสี (Callosciurus finlaysoni) กระจ้อน (Menetes berdmorei) และ ขนาดเล็ก เช่น กระเล็น (กระถิก) ซึ่งเป็นกระรอกที่เล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย

อาหารของกระรอกคือ ผลไม้ และ เมล็ดพืช เป็นหลัก แต่กระรอกก็ยังชอบกินแมลงด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะกระรอกขนาดใหญ่อย่างพญากระรอก นั้นบางครั้งก็ยังกินไข่นกเป็นอาหารอีกด้วย


กระรอกที่พบในประเทศไทย
กลุ่มกระรอกต้นไม้และกระรอกดินมี ทั้งหมด17 ชนิด

พญากระรอกดำ (Ratufa bicolor)
พญากระรอกเหลือง (Ratufa affinis)
กระรอกข้างลายท้องแดง (Callosciurus notatus)
กระรอกข้างลายท้องเทา (Callosciurus nigrovittatus)
กระรอกท้องแดง (Callosciurus erythraeus)
กระรอกหลากสี (Callosciurus finlaysoni)
กระรอกปลายหางดำ (Callosciurus caniceps)
กระรอกหลากสี (Callosciurus prevostii)
กระรอกหางม้าใหญ่ (Sundasciurus hippurus)
กระรอกหางม้าเล็ก (Sundasciurus tenuis)
กระรอกหางม้าจิ๋ว (Sundasciurus lowii)
กระเล็นขนปลายหูยาว (Tamiops rodolphei)
กระเล็นขนปลายหูสั้น (Tamiops mcclellandi)
กระจ้อน (Menetes berdmorei)
กระรอกหน้ากระแต (Rhinosciurus laticaudatus)
กระรอกลายแถบ (Lariscus insignis)
กระรอกดินแก้มแดง (Dremomys rufigenis)

กลุ่มกระรอกบิน มี 12 ชนิด

พญากระรอกบินหูดำ (Petaurista elegans)
พญากระรอกบินหูแดง (Petaurista petaurista)
พญากระรอกบินหูดำหางเข้ม (Petaurista philippensis)
พญากระรอกบินสีดำ (Aeromys tephomelas)
กระรอกบินเล็กแก้มขาว (Hylopetes phayrei)
กระรอกบินเล็กเขาสูง (Hylopetes alboniger)
กระรอกบินแก้มสีแดง (Hylopetes spadiceus)
กระรอกบินแก้มเทา (Hylopetes lepidus)
กระรอกบินจิ๋วท้องขาว (Petinomys setosus)
กระรอกบินจิ๋วมลายู (Petinomys vordermanni)
กระรอกบินเท้าขน (Trogopterus pearsoni)
กระรอกบินสีเขม่า (Pteromyscus pulverulentus)
อย่างไรก็ตามการจำแนกชนิดของกระรอกบินนั้นทำได้ยาก เนื่องจากวงศ์ย่อยนี้มีความคล้ายคลึงกันมาก แม้แต่ในกลุ่มนักวิชาการเองก็ยังถกเถียงกันในเรื่องนี้

นอกจากนี้แล้วยังมีสัตว์อีก 3 ชนิด ที่มีรูปร่างและลักษณะใกล้เคียงกับกระรอก จนอาจทำให้หลายคนเข้าใจว่าเป็นกระรอกชนิดหนึ่งด้วย แต่ความจริงแล้ว ทั้ง 3 ชนิดนี้เป็นสัตว์คนละอันดับกับกระรอกเลย ได้แก่ บ่าง (Cynocephalu variegatus) ซึ่งเป็นสัตว์ในอันดับบ่าง กระแต (Tupaiidae) เป็นสัตว์ในอันดับวานร และ ซูกาไกล์เดอร์ (Petaurus breviceps) หน้าตาและรูปร่างคล้ายกระรอกบินมาก แต่เป็นสัตว์ในอันดับสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง

จากเวป วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...