วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นกแก้วโม่ง

นกแก้วโม่ง





ชื่อวิทยาศาสตร์ Psittacula eupatria (Linnaeus, ค.ศ. 1766)

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Aves

อันดับ Psittaciformes
วงศ์ Psittacidae

สกุล Psittacula
สปีชีส์ P. eupatria

แก้วโม่ง (Psittacula eupatria) เป็นนกตระกูลนกแก้วขนาดเล็ก - กลาง ชื่อสามัญคือ Alexandrine Parakeet โดยชื่อนี้ เป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่ กษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อครั้งยาตราทัพเข้ามาสู่ในทวีปเอเชีย โดยได้นำนกแก้วสายพันธุ์นี้กลับไปยังทวีปยุโรป

แก้วโม่งมีถิ่นกำเนิดแพร่กระจายทั่วไปในแถบทวีปเอเชีย ตั้งแต่ฝั่งตะวันตกและตะวันออกของอัฟกานิสถาน, ไล่ลงไปยังอินเดีย, อินโดจีน เช่น พม่า หรือ ประเทศไทยฝั่งตะวันตก รวมทั้งยังพบได้ตามหมู่เกาะในทะเลอันดามัน

แก้วโม่งมีความยาววัดจากหัวถึงปลายหางได้ราว 57-58 เซนติเมตร ลำตัวมีสีเขียว จงอยปากมีลักษณะงุ้มใหญ่สีแดงสด บริเวณหัวไหล่จะมีแถบสีแดงแต้มอยู่ทั้งสองข้าง นกเพศผู้และเมียสามารถแยกแยะได้เมื่อนกโตเต็มที่ กล่าวคือในเพศผู้จะปรากฏมีแถบขนสีดำและสีชมพูรอบคอที่เรียกกันว่า "Ring Neck" ซึ่งในนกเพศเมียไม่มีเส้นที่ปรากฏดังกล่าว

แก้วโม่ง มีสายพันธุ์ย่อยลงไปอีก 4 สายพันธุ์ คือ P.e. nipalensis พบมากใน Ceylon และทางใต้ของอินเดีย P.e. magnirostris พบในบริเวณหมู่เกาะอันดามัน P.e. avensis พบในเขตรัฐอัสสัม,พม่า P.e. siamensis พบได้ในภาคตะวันตกของประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียตนาม

ความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ย่อยนั้น อาจมีต่างกันเล็กน้อยในเรื่องของ ขนาด, ความยาว และสีสันที่ปรากบนลำตัว

อาหาร ของแก้วโม่ง ในธรรมชาติ ประกอบด้วย เมล็ดพืชต่าง ๆ ผลไม้หลากชนิด ใบไม้อ่อน ฯลฯ

แก้วโม่งจัดเป็นนกแก้วที่มีเสียงร้องค่อนข้างดัง และมักเลือกที่จะทำรังตามโพรงไม้ใหญ่ ๆ โดยใช้วิธีแทะหรือขุดโพรงไม้จำพวกไม้เนื้ออ่อน หรืออาจเลือกใช้โพรงไม้ที่เก่าต่าง ๆ โดยในฤดูผสมพันธุ์ซึ่งจะแตกต่างกันตามลักษณะสายพันธุ์ย่อย อันเกี่ยวเนื่องกับอุณหภูมิและสภาพทางภูมิศาสตร์ แต่โดยเฉลี่ยจะเริ่มจากเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงราวปลายเมษายน โดยในระหว่างฤดูผสมนี้เพศเมียจะค่อนข้างแสดงอาการดุ และกร้าวร้าวมากขึ้น

แก้วโม่งวางไข่ปีละครั้ง ครั้งละ 2-4 ฟอง

แก้วโม่งจัดเป็นนกแก้วที่นิยมนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ เพราะพบว่าเป็นนกแก้วที่มีความสามารถในการเลียนเสียงต่าง ๆ โดยเฉพาะเสียงมนุษย์ได้ดี ปัจจุบันนกแก้วโม่งจัดเป็นนกที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง 2 ของอนุสัญญาไซเตส รวมทั้งเป็นนกที่กฎหมายให้ความคุ้มครองในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน

แก้วโม่งเป็นนกที่ได้รับการนำมาเพาะพันธุ์โดยมนุษย์ประสบผลสำเร็จ ทำให้แนวทางในลดปัญหาจากลักลอบจับหรือล่านกแก้วโม่งป่า เพื่อการค้า มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

สำหรับการเลี้ยงนกแก้วโม่งในครอบครองนั้น ผู้เลี้ยงควรต้องศึกษาในเรื่องของพฤติกรรมความเป็นอยู่, ลักษณะนิสัย รวมทั้งการจัดการด้านอาหารและสถานที่เลี้ยงให้ถูกต้อง เพราะการเลี้ยงนกที่ผิดไปจากธรรมชาติถิ่นที่อยู่เดิมนั้น ปัญหาประการหนึ่งก็คือ "ความเครียด" ของนก ดังนั้น การจัดหาความพร้อมทั้งสถานที่,อุปกรณ์ อาหารการกินที่เหมาะสม อาจช่วยให้นกได้รู้สึกมีความสุขและลดความเครียดลง รวมทั้งยังพร้อมที่จะตอบสนองต่อการเป็นนกในฐานะสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ได้อย่างมีความสุข และมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป



จากเวป วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...