วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กั้ง


กั้งตั๊กแตนเป็นสัตว์ทะเลจำพวกกุ้ง เติบโตโดยการลอกคราบ ชอบอาศัยฝังตัวอยู่ตาม พื้นโคลน และบริเวณปากแม่น้ำ ชนิดที่พบบ่อยและมีขนาดใหญ่ที่สุด คือกั้งตั๊กแตนสีน้ำเงิน ( Silver Mantis Shrimp ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Harpiosquilla raphidea ( Fabricius) จัดอยู่ในวงศ์ Squillidae ลำตัวสีเงิน มีลักษณะลำตัวแบน ด้านบนโค้ง ขาเดินมี 3 คู่ไม่เป็นก้ามหนีบ ระยางค์ของส่วนท้อง ซึ่งมี 5 คู่ จะช่วยในการว่ายน้ำ มีเหงือกใช้หายใจเหมือนกุ้งทั่วๆไป ความยาวตั้งแต่หัวถึงหางเฉลี่ย 30 เซนติเมตร มีตาใสสีเขียวรูปเมล็ดถั่วเหลือง

การเพาะฟักกั้งตั๊กแตน
เนื่องจากจำนวนผู้จับกั้งตั๊กแตนในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรวบรวมส่งขายยังตลาดทั้งภายในและนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกปี เป็นเหตุให้ปริมาณกั้งตั๊กแตนในธรรมชาติมีปริมาณลงลดอย่างรวดเร็ว สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงได้ทำโครงการทดลองเพาะฟัก กั้งตั๊กแตนขึ้น เพื่อให้ได้ลูกพันธุ์กั้งตั๊กแตนมาใช้ในการเลี้ยงหรือการทำฟาร์มต่อไปในอนาคต
กั้งตั๊กแตนที่ใช้ทดลองเพาะขยายพันธุ์ เป็นกั้งตั๊กแตนสีน้ำเงิน Harpiosquilla raphidea จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณปากแม่น้ำ และบริเวณชายฝั่งในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช วิธี


การเพาะพันธุ์มีขั้นตอนดังนี้

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
พ่อแม่พันธุ์ที่ใช้ในการเพาะพันธุ์ จะคัดมาจากทั้งที่จับขึ้นมาใหม่ๆ และมีสภาพแข็งแรง มีขนาดความยาวไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 180-200 กรัม

การผสมพันธุ์และวางไข่

กั้งตั๊กแตนเพศเมีย จะมีขนาดโตกว่าเพศผู้ และกั้งตัวเมียที่นำมาเพาะพันธุ์ จะเป็นตัวที่เจริญเพศอย่างสมบูรณ์ และได้รับการผสมกับตัวผู้มาแล้ว โดยจะสังเกตได้จาก กระเปาะเก็บ น้ำเชื้อที่มีสีขาวขุ่นตรงบริเวณปล้องอกที่ 6-7-8 ( ด้านท้อง ) เราเรียกกระเปาะเก็บน้ำเชื้อว่า Seminal receptacal เมื่อถึงเวลาไข่แก่เต็มที่ กั้งตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมาจากช่องวางไข่ ตรงบริเวณกลางปล้องอกที่ 6 ไข่ที่ถูกปล่อยออกมาก็จะผสมกับน้ำเชื้อของตัวผู้ที่ฝากไว้บริเวณปล้องที่ 6

กั้งตั๊กแตนเพศผู้ โดยทั่วไปจะมีขนาดเล็กกว่ากั้งเพศเมียขนาดเจริญเพศแล้ว จะสังเกตลักษณะเพศได้โดยดูที่โคนขาเดินของปล้องอกที่ 8 จะมีท่อส่งน้ำเชื้อลักษณะคล้ายท่อส่งน้ำเชื้อของกุ้งกุลาดำยื่นออกมา เราเรียกท่อส่งน้ำเชื้อนี้ว่า Chitinous penis หลังจากได้รับการผสมพันธุ์แล้วกั้งตัวเมียจะปล่อยไข่ที่มีสีส้มอ่อน เชื่อมไข่ให้ติดกันเป็นแผ่น แล้วใช้ระยางค์หรือมือจับที่ยื่นออกมาจากบริเวณปากช่วยพัดโบกใกล้ๆเพื่อช่วยให้ไข่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ เป็นเวลาติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ จนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อนระยะแรก
หรืออีกวิธี คือการคัดเลือกเฉพาะแม่พันธุ์กั้งตั๊กแตนที่มีไข่แก่ เนื่องจากกั้งจะจับคู่ผสมพันธุ์กันภายในแบบเดียวกับกุ้งทะเลและปูด้วยเหตุนี้การผสมพันธุ์จึงไม่จำเป็นต้องใช้พ่อแม่พันธุ์อีก เมื่อได้แม่กั้งมาแล้วจะนำมาฆ่าเชื้อเพื่อกำจัดโปรโตซัวที่ติดมาตามธรรมชาติออกเสียก่อน ด้วยการแช่ฟอร์มาลีน 200 พีพีเอ็ม ( หนึ่งในล้านส่วน ) ประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นนำไปใส่ถังไฟเบอร์ขนาดจุ 2 ตัน ที่ใส่น้ำผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน และกรองด้วยถุงกรองขนาดตาประมาณ -1 ไมครอนเรียบร้อยแล้ว ถังละ 4 - 5 แม่

อาหารของแม่กั้งนั้นให้วันละ 1 มื้อในตอนบ่ายโดยใช้ปลาข้างเหลือง ซึ่งใช้เฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อเท่านั้น ส่วนท้องจะไม่นำมาให้เป็นอาหาร เพราะจะมีไขมันและสิ่งสกปรกอื่นๆ ขณะที่รอการไข่ของแม่กั้ง จะถ่ายน้ำทุกๆ 3 วัน ส่วนอาหารที่เหลือจากการกินจะดูดออกก่อนให้อาหารใหม่ทุกครั้ง และหากพบว่าแม่กั้งไข่แล้วให้เปลี่ยนน้ำและแยกแม่กั้งออกจากไข่ทันที
การวางไข่ของแม่กั้งตักแตนจะวางไข่ในเวลากลางคืน หลังจากนำเข้าที่ฟักได้ประมาณ 5-15 วัน มีบางครั้งที่พบว่ากั้งบางตัววางไข่ในตอนเช้าซึ่งจะสิ้นสุดขบวนการไข่เวลาเย็น

ขั้นตอนการไข่มีดังนี้
+ ขั้นแรก แม่กั้งจะงอตัวเป็นรูปตัวยู พร้อมกับพ่นน้ำลายซึ่งเป็นเมือกเหนียวๆเหลวๆออกมาปกคลุมบริเวณส่วนนอก ซึ่งเป็นจุดที่แม่กั้งจะปล่อยไข่ออกมา มีลักษณะคล้ายลูกโป่ง ระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง
+ ขั้นที่ 2 เมื่อปล่อยแผ่นเมือกมาปกคลุมมิดชิดดีแล้ว แม่กั้งจะนอนหงายตะแคงตัวเล็กน้อยประมาณ 15-20 องศา เพื่อฉีดไข่ออกมาภายในถุงเมือกเหลวๆนี้ ใช้เวลาในส่วนนี้ประมาณ 3-5 ชม.
+ ขั้นที่ 3 เมื่อปล่อยไข่ออกมาหมดแล้วแม่กั้งจะพลิกตัวกลับในท่าปกติ พร้อมทั้งจัดระเบียบของไข่ให้เป็นแผ่น โดยเปลี่ยนเป็นเมือกเหลวๆ ให้กลายเป็นวุ้นเหลวๆคล้ายเยลลาติน ใช้เวลาประมาณ 3-5 ชม. ซึ่งยากแก่การเน่าสลาย บางครั้งแม่กั้งอาจจัดแผ่นไข่ให้หนาหรือบางไม่เหมือนกัน แล้วแต่นิสัยของแม่กั้งแต่ละตัว ซึ่งหากไข่ถูกจัดให้ซ้อนกันหลายๆชั้น ( 3-4 ชั้น ) จะเกิดปัญหาตามมาในการฟักตัว แต่ถ้าไข่ถูกจัดให้เป็นชั้นเดียวเสมอกันหมด อัตราการฟักเป็นตัวของแผ่นไข่จะสูงตามไปด้วย เนื่องจากการฟักเป็นตัวของไข่ จะใช้เวลานานประมาณ 1-4 วัน หลังจากตัวแรกเริ่มออกจากไข่

การฟักไข่
เมื่อแยกแม่กั้งตั๊กแตนพร้อมทั้งไข่ที่แม่กั้งตั๊กแตนจะอุ้มไข่ไว้ด้วยระยางค์อกส่วนหน้า ( ตั้งแต่คู่ 1-5 ) ตลอดเวลาไม่ยอมปล่อยมาใส่ในถังสำหรับฟักไข่ โดยใช้ถังกรวยขนาด 200 ลิตร มีตาข่ายพลาสติกขนาด 1 ส่วน 4 นิ้ว ทำเป็นกระชังลอยในถังอีกที นำแม่กั้งพร้อมไข่ไปใส่ใน อวนมุ้งนี้ ซึ่งใช้ระบบน้ำฆ่าเชื้อเช่นกัน ในระหว่างฟักไข่ แม่กั้งจะคอยพัดโบกและปล่อยวางแผ่นไข่ตลอดเวลา ใช้เวลาประมาณ 14 -16 วัน และจะเปลี่ยนน้ำ และให้น้ำระบบไหลผ่านประมาณครึ่งชั่วโมงต่อวัน โดยไม่มีการให้อาหาร พร้อมทั้งใส่สารเคมีป้องกันราลงไปด้วย อุณหภูมิจะควบคุมไว้ที่ 30-31 องศาเซลเซียส เมื่อไข่กั้งเริ่มฟักตัวเป็นแผ่นวุ้นที่เชื่อมติดไข่แต่ละใบไว้จะเริ่มสลายตัว หลุดเป็นแผ่นเล็กๆ ช่วงนี้แม่กั้งไม่สามารถอุ้มไข่ไว้ได้อีกและจะปล่อยไข่ทิ้งทันที เมื่อสังเกตว่า แม่กั้งเริ่มทิ้งไข่ควรแยกแม่กั้งออก มิฉะนั้นแล้วแม่กั้งจะกินไข่ตัวเอง เพราะอด
อาหารมานาน

อุปกรณ์ที่ใช้ฟักไข่ประกอบด้วยกระชัง ถุงกรวย ซึ่งพบว่าการฟักไข่ในถุงกรวยโดยให้ลงแรงช่วยในการสะบัดตัวหลุดของไข่ลูกกั้งตั๊กแตนจะดีกว่า แต่มีปัญหาการติดขอบบนของผิวน้ำ ตายเสียมาก และหากใส่ไข่ลงไปพร้อมกันถุงเดียวจะเกิดการทับถม ทำให้กั้งตัวน้อยที่เกิดใหม่ตาย

การอนุบาลลูกกั้งตั๊กแตน
การอนุบาลลูกกั้งตั๊กแตนที่ออกมาใหม่ มีความยาว 3 มิลลิเมตร ได้รับการอนุบาลในถังอนุบาล ลูกกั้งที่ออกมาจะลอกคราบ 1 ครั้งถึงจะกินอาหาร ซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน อาหารที่ให้คือไรน้ำเล็กๆ เมื่อถึงวันที่ 4 จะกินอาร์ทีเมีย จนกระทั่งถึงอายุ 30 วัน ขนาดของอาร์ทีเมียที่ลูกกั้งจับกินจะเริ่มจากขนาดเล็กและใหญ่ขึ้น และบางแห่งมีการอนุบาลลูกกั้งตั๊กแตนเหมือนกับการอนุบาลลูกกุ้งกุลาดำทุกประการ

ปริมาณกั้งที่ตลาดต้องการ
ขณะนี้ตลาดกั้งตั๊กแตนได้ขยายตัวออกไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ประเทศที่สั่งเข้า กั้งตั๊กแตนจากประเทศไทย ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ บางครั้งมีการสั่งจาก ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นถ้าเราสามารถรวบรวมกั้งได้ตามขนาดที่ตลาดต้องการ ก็จะทำให้ธุรกิจราบรื่น และอาจจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

วิธีการลำเลียงขนส่ง
เนื่องจากกั้งเป็นสัตว์น้ำเค็มที่มีรสชาติดี และมีโปรตีนสูง สภาพเนื้อคล้ายปู ส่วนใหญ่ผู้บริโภคมักจะนิยมรับประทานกั้งโดยปรุงเป็นอาหารในขณะที่กั้งยังมีชีวิตอยู่ ถ้ากั้งตายก่อนที่จะปรุงอาหาร เนื้อของกั้งจะเหลวและสลายตัวเป็นน้ำเน่าเสียในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นการลำเลียงกั้งโดยรักษาสภาพให้มีชีวิตอยู่จึงมีความจำเป็นมาก

การลำเลียงขนส่ง
การลำเลียงขนส่งกั้งตักแตนมี 2 วิธีคือ ลำเลียงในสภาพสด และลำเลียงในสภาพแห้ง ดังนี้
+ การลำเลียงในสภาพสด ลำเลียงไปครั้งละ 80-100 กิโลกรัม ถังไฟเบอร์ที่ใช้มีจำนวน 26 ใบ บรรจุน้ำทะเล 60 ลิตร/ถัง ช่วยเพิ่มออกซิเจนด้วยเครื่องเป่าลมและควบคุมอุณหภูมิของน้ำโดยการใช้น้ำแข็งก้อนเล็กๆบรรจุในถุงพลาสติกลอยในถังลำเลียงกั้งตั๊กแตนนั้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิให้ได้ระดับ 20-30 องศาเซลเซียส ขนาดของกั้งตั๊กแตนที่ลำเลียงมีน้ำหนักประมาณ 5-6 ตัว/กิโลกรัม ราคารับซื้อในท้องถิ่น 230-270 บาท / กิโลกรัม และเมื่อถึงกรุงเทพฯได้ในสภาพกั้งมีชีวิตราคา 350 บาท / กิโลกรัม

+ การลำเลียงในสภาพแห้ง โดยใช้ถังโฟมขนาดกว้าง x ยาว xสูง ( 12 x17 x12 นิ้ว ) มีการ ควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ 20-23 องศาเซลเซียส ด้วยการใช้หญ้าคาสดแช่ในน้ำแข็ง แล้วนำมารองพื้นไว้หนึ่งชั้น แล้วบรรจุกั้งตั๊กแตนลงไป 12-14 ตัว ( ขนสด 6-7 ตัว / กิโลกรัม ) แล้วจึงปูทับด้วยหญ้าคาสดที่แช่น้ำแข็งเตรียมไว้ แล้วจากนั้นก็บรรจุกั้งตั๊กแตนในสภาพมีชีวิตวางเรียบ 12-17 ตัว อีกชั้นหนึ่ง ( ในหนึ่งกล่องโฟม จะมีหญ้าคาสดปูไว้ 3 ชั้น ) ในกล่องใบหนึ่งจะบรรจุกั้งรวมประมาณ 3.5-4.0 กิโลกรัม ผนึกฝากล่องด้วยเทปให้สนิท แล้วเจาะรูตรงกลางฝาลังโฟม อัดออกซิเจนให้เต็ม และปิดรูให้สนิท วิธีนี้ใช้ขนส่งทางเครื่องบินแล้วพักที่กรุงเทพฯ ก่อนบรรจุใหม่เพื่อส่งต่อไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน

วิธีลำเลียงในสภาพแห้งนี้นิยมทำกันในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราชและจ.สตูล

แหล่งรับซื้อกั้งตั๊กแตนในภาคใต้
- อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
- อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
- อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
- อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ระยะเวลาการขนส่งตั๊กแตนโดยการใช้รถยนต์ลำเลียง จากแหล่งรับซื้อและแหล่งบรรจุ จนถึงมือผู้รับซื้อในจังหวัดกรุงเทพฯ มีดังนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...