ชื่ออื่น อังกฤษ : Asian Golden Cat, Temminck's cat
ฝรั่งเศส : chat doré d'Asie
เยอรมัน : Asiatische Goldkatze
สเปน: gato dorado asiatico
บังกลาเทศ, อินเดีย : shonali biral
จีน : 金猫, 亚洲金猫
อินโดนีเซีย : kucing emas
ลาว : sua meo, sua pa
มาเลเซีย : kucing tulap, harimau anjing
พม่า : kya min, kyaung min
ฉาน : hso hpai, miao thon
อาณาจักร Animalia
ไฟลัม Chordata
ชั้น Mammalia
อันดับ Carnivora
วงศ์ Felidae
สกุล Catopuma
สปีชีส์ C. temminckii
ลักษณะทั่วไป
เสือไฟเป็นเสือขนาดกลาง มีรูปร่างบึกบึน ขาค่อนข้างยาว ลำตัวสีเรียบ มีลวดลายน้อย มีสีพื้นน้ำตาลแดงจนถึงแดงอย่างเก้ง บางตัวอาจมีสีดำ หรือน้ำตาล หรือเทา มีเสือไฟดำแบบเมลานิซึมบ้างแต่พบได้น้อย
เสือไฟที่อยู่ทางใกล้เส้นศูนย์สูตรจะมีลายเรียบที่สุด ส่วนตัวที่อยู่ไปทางเหนือมากขึ้นก็จะมีลายมากขึ้นตามละติจูด โดยเฉพาะเสือไฟพันธุ์ Fontainer (Fontainer's Cat, C.t. tristis) ซึ่งพบในมณฑลเสฉวนและทิเบตประเทศจีนมีลวดลายพร้อยทั้งตัวคล้ายกับโอเซลอตในอเมริกาใต้จนนักสัตววิทยาบางคนจัดไว้เป็นแมวอีกขนิดหนึ่ง
เสือไฟพันธุ์ C.t.tristis อาศัยอยู่ในจีน มีลายคล้ายแมวโอเซลอต
แม้จะมีลายน้อย แต่รูปแบบของลายของเสือไฟก็ดูคล้ายกับลายของแมวดาว ลักษณะที่เด่นชัดคือ แต้มสีขาวกับขีดดำบริเวณแก้ม และเส้นจากหัวตาไปถึงกระหม่อม ด้านล่างลำตัวและขาด้านในมีสีขาว หางยาวประมาณ 1/3 จนถึง 1/2 ของความยาวลำตัว ปลายหางด้านล่างสีขาว หูสั้นกลม หลังหูสีดำและมีจุดขาวอยู่กลางหลังหู ตามักมีสีเขียวอมเทาหรือสีเหลืองอำพัน ปลายหางด้านใต้จะมีริ้วสีขาวเช่นเดียวกับที่พบในเสือไฟบอร์เนียว นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าสองชนิดนี้อาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน
ความยาวลำตัว 75-105 เซนติเมตร น้ำหนัก 8-15 กิโลกรัม ตัวผู้ใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด
เสือไฟมีคู่เหมือนชนิดหนึ่งคือ เสือไฟแอฟริกา (African Golden Cat, Profelis aurata) อาศัยอยู่ในป่าเขตศูนย์สูตรในทวีปแอฟริกา ในอดีตเคยมีความเชื่อว่า เสือไฟทั้งสองชนิดเป็นญาติสนิทกัน แต่ข้อมูลด้านพันธุกรรมบ่งชี้ว่าเสือไฟและเสือไฟแอฟริกามีสายเลือดห่างกันมาก ญาติสนิทที่สุดของเสือไฟคือแมวแดงบอร์เนียว (Bornean Bay Cat, Catopuma badia) อาศัยอยู่ในป่าทึบของเกาะบอร์เนียว คาดว่าเสือไฟและแมวแดงบอร์เนียวมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 4.9 ถึง 5.3 ล้านปีก่อน
ชนิดย่อย
ชื่อชนิดพันธุ์ เขตกระจายพันธุ์
C.t.dominicanorum จีนตอนใต้
C.t.temmincki เทือกเขาหิมาลัยจนถึงสุมาตรา
C.t.tristis ที่ราบสูงของจีนตะวันตกเฉียงใต้
ถิ่นที่อยู่อาศัย
เขตกระจายพันธุ์ของเสือไฟ
เสือไฟชอบอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตศูนย์สูตรหรือป่ากึ่งศูนย์สูตร บางครั้งอาจพบบริเวณป่าเปิด ป่าละเมาะ และป่าหญ้า รวมถึงป่าที่เป็นดงหิน ในบางพื้นที่ของประเทศจีนเรียกเสือชนิดนี้ว่า "เสือหิน" ที่แถบเทือกเขาหิมาลัยในอินเดียและสิกขิมเคยพบที่ระดับความสูงถึง 3,050 เมตร อาณาเขตตั้งแต่เนปาล อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ไทย มาเลเซีย และสุมาตรา
อุปนิสัย
เสือไฟหากินเวลากลางคืน ในตอนเหนือของประเทศเวียดนาม มีรายงานว่าช่วงเวลาที่พบเสือไฟมากที่สุดคือเวลา 23.00-24.00 น. ปีนต้นไม้เก่ง แต่ชอบอยู่บนพื้นดินมากกว่า เวลาเดินจะยกหางขึ้นสูง ล่าเหยื่อหลายชนิด ตั้งแต่สัตว์จำพวกหนู นก กระต่ายป่า สัตว์เลื้อยคลาน แมลง นอกจากนี้ก็อาจล่าสัตว์ใหญ่กว่าตัวเองได้ด้วย เช่น เก้ง ในรัฐสิกขิมและอินเดียเคยมีรายงานว่าเสือไฟสามารถล่ากวางผาได้ ในเวียดนามตอนเหนือก็เคยพบเสือไฟล่ากวางป่าและหมูป่า บางครั้งก็เข้ามากินสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น แกะ แพะ และลูกควายจนต้องถูกชาวบ้านล่ากลับบ้างเหมือนกัน
ชีววิทยา
ระยะเวลาเป็นสัดยาว 6 วัน คาบการเป็นสัดนาน 39 วัน เสือไฟตั้งท้องนาน 70-80 วัน จากคำบอกเล่าของชาวเขาในประเทศไทยบอกว่าเสือไฟเลี้ยงลูกในโพรงไม้ ออกลูกครั้งละ 1-3 ตัว ลูกเสือแรกเกิดหนักประมาณ 250 กรัม ลืมตาได้เมื่ออายุ 9 วัน เมื่ออายุ 6 เดือนก็หย่านม ลูกเสือไฟมีสีเรียบเหมือนพ่อแม่ แต่มีขนยาวกว่า หนากว่า และสีเข้มกว่าของพ่อแม่เล็กน้อย ตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปี ตัวเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 18-24 เดือน
ปัจจุบันมีเสือไฟอยู่ในสวนสัตว์ทั่วโลกรวมแล้วราวสิบตัวเท่านั้น เสือไฟมีปัญหาเรื่องเสือตัวผู้ฆ่าตัวเมีย แม้จะเป็นคู่ที่รู้จักคุ้นเคยกันมานานก็ตาม การเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงจึงทำได้ยาก ตัวที่อายุยืนที่สุดมีอายุ 20 ปี
ภัยที่คุกคาม
เสือไฟประสบปัญหาถูกคุกคามจากภัยหลายด้าน ภัยที่ร้ายแรงที่สุดคือการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และรองลงมาคือการล่าเพื่อเอาหนังและกระดูก บางครั้งเสือไฟก็ถูกชาวบ้านฆ่าตายเมื่อไปจับสัตว์เลี้ยงในฟาร์มกิน ด้วยเหตุนี้ไซเตสจึงจัดเสือไฟไว้ในบัญชีหมายเลข 1
สถานภาพประชากร
ไอยูซีเอ็นประเมินสถานภาพไว้ในระดับเสี่ยงสูญพันธุ์ (2550)
ประเทศที่ห้ามล่า
บังกลาเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า เนปาล ไทย เวียดนาม
ควบคุมการล่า
ลาว
ไม่คุ้มครองนอกเขตอนุรักษ์
ภูฏาน บรูไนดารุสซาราม
ไม่มีข้อมูล
กัมพูชา
จากเวป โลกสีเขียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น