ไก่ป่า (ไก่เถื่อน)
Red Junglefowl
ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Gallus gallus
อันดับ
Galliformes
วงศ์
Phasianidae
ลักษณะทั่วไป
บนหัวมีหงอนที่มีลักษณะเป็นเนื้อไม่ใช่หงอนที่เป็นขน มีเหนียงสองข้างห้อยลงมาที่โคนปากและคาง
ที่บริเวณหน้าและคอนั้นมีลักษณะเป็นหนังเกลี้ยงๆ ไม่มีขน ส่วนขนตามตัวทั่วๆ ไปมีสีสันสวยงาม
ขนหางตั้งเรียงกันเป็นสันสูงตรงกลาง มีขนหาง 14 – 16 เส้น
เส้นกลางยาวปลายแหลมและอ่อนโค้ง แข้งมีเดือยข้างละอันเป็นอาวุธ
ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้และสีขนไม่ฉูดฉาดสวยงามเท่าตัวผู้ แข้งไม่มีเดือย
หงอนและเหนียงมีขนาดเล็กมาก จนกระทั่งบางตัวแทบจะไม่มี ไก่ป่าเป็นนกขนาดกลาง ลำตัวยาว 43 - 76 เซนติเมตร ในประเทศไทยมี 2 ชนิดย่อย คือไก่ป่าตุ้มหูขาวและไก่ป่าตุ้มหูแดง ไก่ป่าตุ้มหูขาวตัวผู้มีตุ้มหูสีขาว หน้าและหงอนขนาดใหญ่มีสีแดงสด หัว คอ ปีก และหลังมีสีเหลืองสลับแดง ท้องดำ หางสีดำเหลือบเขียว หางคู่กลางยื่นยาวกว่าหางเส้นอื่น ไก่ตัวเมียมีสีน้ำตาลเรียบ ๆ ออกเทา หางสั้นและมีหงอนเล็กมาก ส่วนไก่ป่าตุ้มหูแดงตัวผู้จะมีตุ้มหูสีแดง
ไก่ป่า เป็นบรรพบุรุษของ ไก่บ้าน แตกต่างกันตรงที่ไก่ป่า
มีขาเป็นสีเทาและตรงบริเวณโคนหางมีสีขาวเห็นเด่นชัด
ในอดีต ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ประเทศไทยยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่ามากมายหลายประเภท โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ
การล่านกเพื่อเป็นอาหารนับว่าเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านทั่วๆไป และถือว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง
ทำให้นกหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไปอย่างน่าเสียดาย ในจำนวนนกที่ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารนั้น ไก่ป่า
ซึ่งเป็นนกประเภทหนึ่งที่มีอยู่อย่างชุกชุมถูกล่ามากที่สุด เนื่องจากว่าเนื้อมีรสอร่อย
ถ้าไม่สังเกตให้ดี ไก่ป่า จะไม่มีความแตกต่างจาก ไก่บ้าน มากนัก เนื่องจากว่า ไก่บ้าน สืบสายพันธุ์มาจาก
ไก่ป่า โดยมนุษย์ได้นำ ไก่ป่า มาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์ในครัวเรือนเป็นเวลานานกว่า 4,400 ปี
นอกจากจะเรียกนกชนิดนี้ว่า ไก่ป่า แล้ว บางครั้งยังเรียกว่า ไก่เถื่อน อีกด้วย
ปัจจุบันไก่ป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2
ถึงแม้ว่า ไก่ป่า จะถูกตามล่าอยู่เป็นประจำ แต่เนื่องจาก ไก่ป่า มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
จำนวนของ ไก่ป่า ตามธรรมชาติจึงคงมีเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก และจัดเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทั่วทุกภาค
ตั้งแต่บนที่ราบต่ำ จนถึงระดับความสูง 1,800 เมตร ในต่างประเทศเคยพบที่ระดับความสูง 2,000 เมตร
ซึ่งนับว่าสูงมากทีเดียว
ไก่ป่าดั้งเดิมมีอยู่ 4 ประเภท คือ
1. ไก่ป่าไทย หรือ Red Jungle fowl ตัวผู้มีลักษณะที่สำคัญ คือ หน้าอกและใต้ท้องมีสีดำ
ตัวเมียหน้าอกสีน้ำตาลแกมแดง บนหลังมีลายเลือนๆไม่ชัดเจน พบในเอเซีย เช่น อินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย
สำหรับ ไก่ป่าไทย ในประเทศไทยแยกออกเป็นชนิดย่อยอีก 2 ชนิด คือ
- ไก่ป่าตุ้มหูขาวหรือไก่ป่าอีสาน
- ไก่ป่าตุ้มหูแดงหรือไก่ป่าพันธุ์พม่า
2. ไก่ป่าลังกา หรือ La Fayette’s Jungle fowl ตัวผู้มีสีแดงแทบจะทั้งตัว
หน้าอกและใต้ท้องก็เป็นสีแดง ผิดกับไก่ป่าไทยซึ่งหน้าอกและใต้ท้องมีสีดำ ปลายปีกและหางสีดำแกมม่วง
ตุ้มหูขาว ตัวเมียหน้าอกเป็นลายเลือนๆสีน้ำตาล ปลายปีกและหางมีลายขวาง มีเฉพาะในเกาะลังกา
3. ไก่ป่าอินเดีย หรือ Sonnerat’s Jungle fowl ตัวผู้ขนสร้อยคอกลมมนและมีจุดขาวๆ บนหลัง
หน้าอกและใต้ท้องเป็นสีเทามีลายตามขอบขนดำๆ ปลายปีกและหางดำแกมเขียว แข้งสีดำ ตุ้มหูแดง
ตัวเมียหน้าอกขาวลายขอบขนดำ ปีกและหางมีลายเลือนๆมีในภาคกลางและภาคใต้ของอินเดีย
4. ไก่ป่าชวา หรือ Green Jungle fowl ตัวผู้ขนสร้อยคอสั้นและกลมมนสีเขียว ตัวเมียหน้าอกสีน้ำตาลคล้ำ
ส่วนบนของลำตัวมีลายดำทั่วไป มีในเกาะชวาและหมู่เกาะเล็กๆทางทิศตะวันออก
จาก ไก่ป่า ได้พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็น ไก่อู ซึงเป็นต้นตระกูลของ ไก่ชน ในระยะเริ่มแรก
ไก่อู มีหลายสี รูปร่างมีขนาดใหญ่แต่ปราดเปรียว ไข่ดกและมีเนื้อมาก เมื่อถูกนำมาเป็น ไก่ชน
จะมีความทรหดอดทน แข็งแรง และมีความทนทานในการต่อสู้
ถิ่นอาศัย, อาหาร
พบในเอเชียตอนใต้ ตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัย ลงมายังปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ พม่า ไทย อินโดจีน จีนตอนใต้ มาเลเซีย สุมาตรา ชวาและ บาหลี
อาหารได้แก่ แมลง เมล็ดพืช ลูกไม้สุกและดอกหญ้า
พฤติกรรม, การสืบพันธุ์
อาศัยตามป่าไผ่ ป่าดิบแล้ง และป่ารอยต่อระหว่างป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง หากินเป็นกลุ่มเล็ก ๆ อยู่ตามพื้นป่า ตัวผู้ไม่ชอบร้องเหมือนตัวเมีย ในฝูงหนึ่งจะมีตัวผู้คุมตัวเมียหลายตัว ตัวผู้มักขันเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในช่วงตอนเช้าและพลบค่ำ หากินเวลากลางวัน ตามพื้นดิน บินได้ไม่ไกลและไม่สูงมาก
ไก่ป่าผสมพันธุ์ในฤดูร้อน สร้างรังอยู่ตามพื้นดินตามกอหญ้า กอไผ่ วางไข่ 6 - 12 ฟอง ระยะฟักไข่ 21 วัน ลูกไก่แรกเกิดมีขนอุยสีเหลืองสลับลายดำทั่วลำตัว เมื่อขนแห้งก็เดินตามแม่ไปหากินได้ทันที
สถานภาพปัจจุบัน
เป็นนกประจำถิ่นที่พบบ่อย และปริมาณปานกลาง ไก่ป่าตุ้มหูขาวพบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง คือเลียบชายแดนประเทศกัมพูชา ตั้งแต่จังหวัดตราด ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนไก่ป่าตุ้มหูแดง พบทางด้านตะวันตก ตั้งแต่ภาคใต้ขึ้นมาเลียบชายแดนประเทศพม่า จรดภาคเหนือ และตอนเหนือของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
สถานที่ชม
สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์เปิดเขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ สวนสัตว์นครราชสีมา สวนสัตว์สงขลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น