อีเก้ง.ฟาน
ชื่อสามัญ ; Barking Deer (Common Barking Deer)
ชื่อวิทยาศาสตร์ ; Muntiacus muntjak
ชื่อไทย : เก้ง, อีเก้ง, ฟาน
ชื่ออังกฤษ : Common barking deer, Common muntjac
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Muntiacus muntjak
อาณาจักร : Animalia
ไฟลัม : Chordata
ชั้น : Mammalia
อันดับ : Artiodactyla
วงศ์ : Cervidae
สถานภาพการคุ้มครอง : สัตว์ป่าคุ้มครอง
ลักษณะทั่วไป
เป็นกวางขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำหนัก 14-18 กิโลกรัม ตัวผู้มีเขาสั้น ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร และมีแขนงเล็ก ๆ แตกออกข้างละสองกิ่ง ตัวเมียไม่มีเขา ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดง มีต่อมน้ำตาขนาดใหญ่และแอ่งน้ำตาลึกตัวผู้มีเขี้ยวยาวยื่นออกมานอกริมฝีปาก ใช้สำหรับป้องกันตัว ลูกเก้งมีจุดสีขาวตามตัว และจะค่อยจางหายไปเมื่อมีอายุได้ราว 6 เดือน
เก้ง เป็นสัตว์กีบที่เห็นได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่งในป่าเมืองไทย รูปร่างแบบกวาง แต่ตัวเล็ก หลังโก่งเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ซีดและอมเทาเล็กน้อย หางด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว เก้งตัวผู้มีเขาสั้น ฐานเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระโหลกยื่นยาวขึ้นไปเป็นแท่ง มีขนปกคลุม และมีขนสีดำขึ้นตามแนวเขาจนดูเป็นรูปตัววีเมื่อมองด้านหน้าตรง ส่วนปลายเขาสั้น แต่เป็นง่ามเล็ก ๆ แค่สองง่าม ไม่แตกเป็นกิ่งก้านแบบกวาง ผลัดเขาปีละครั้ง ส่วนตัวเมียไม่มีเขาและฐานเขา แต่บนหน้าก็มีขนรูปตัววีเหมือนกัน เก้งตัวที่อายุมากผู้มีเขี้ยวยาวแหลมโค้งโผล่พ้นขากรรไกรออกมา เก้งเวลาเดินจะยกขาสูงทุกก้าว
เก้งร้องเสียงคล้ายหมาเห่า แต่ดังมาก จนบางคนที่ได้ยินเมื่อเข้าป่าอาจตกใจคิดว่าเป็นหมาป่าได้ ภาษาอังกฤษจึงชื่อเรียกว่าเก้งอีกชื่อหนึ่งว่า barking deer ซึ่งแปลว่า "กวางเห่า" นั่นเอง
เก้งหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะพบตอนเย็นหรือหัวค่ำ และตอนเช้ามืดจนถึงช่วงสาย อดน้ำไม่เก่ง จึงมักอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ อาหารหลักได้แก่ยอดไม้ หน่ออ่อน ใบไม้ ผลไม้ และรวมถึงเปลือกไม้ด้วย ไม่ค่อยกินหญ้า
ลักษณะนิสัย
มักชอบอาศัยอยู่ตามลำพังตัวเดียวตามพงหญ้าและป่าทั่วไป เว้นแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะอยู่เป็นคู่ออกหากินตอนเย็นและเช้าตรู่ กลางวันหลับนอนตามพุ่มไม้ เมื่อตกใจจะส่งเสียงร้อง "เอิ๊บ-เอิ๊บ-เอิ๊บ" คล้ายเสียงสุนัขเห่า
ถิ่นอาศัย
จีนตอนใต้ มาเลเซีย อินโดจีน และทุกภาคของประเทศไทย
อาหาร
ใบไม้อ่อน หน่อไม้อ่อน มะขามป้อม มะม่วงป่า
การสืบพันธุ์
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในฤดูหนาว ตั้งแต่พฤศจิกายนถึงมกราคม ตกลูกต้นฤดูฝนพอดี ปกติตกลูกครั้งละหนึ่งตัว ตั้งท้องนานราว 6 เดือน ออกลูกตามใต้พุ่มไม้ ลูกเก้งมีจุดสีขาวตามตัว เมื่ออายุได้ราว 6 เดือน จุดสีขาวนั้นจึงค่อยจางหายไป เก้งผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุได้ 18 เดือน อายุขัยประมาณ 15 ปี
สถานภาพปัจจุบัน
สัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น